วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การประเมินการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

แนวคิดของการประเมินการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จัดเป็นการประเมินแนวใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไปตามหลักการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยมีความเชื่อที่อาจสรุปได้ ดังนี้(บุญเชิด ภิญโญอนันตพงษ์ ,2545: 21–27)
1. ไม่มีผู้เรียนกลุ่มใดจะใช้เป็นกลุ่มมาตรฐานให้ยึดถือเป็นมาตรฐานได้ ผู้เรียนแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตน มีความถนัด ความสนใจที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเรียนการสอนและการประเมินจึงต้องสอดคล้องกับแต่ละบุคคลและแตกต่างกันไป
2. การประเมินทางตรงที่อิงการปฏิบัติด้วยเครื่องมือการประเมินที่หลากหลายจะสามารถประเมินความรู้ คุณธรรม และกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนได้สมบูรณ์กว่า แม่นยำถูกต้องกว่า และได้ภาพพจน์ของความยุติธรรมมากกว่า
3. การให้ผู้เรียนจัดทำและรักษาปรับปรุงแฟ้มสะสมงานของผู้เรียนซึ่งมีสารสนเทศจากการประเมินและทดสอบที่หลากหลาย จะสะท้อนภาพรวมทั่วไปของผู้เรียนได้ชัดเจน
4. การประเมินเป็นส่วนประกอบที่กลมกลืนกับหลักสูตร ดังนั้นการประเมินจึงเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและตลอดหลักสูตรและการเรียนการสอนประจำวัน
5. การประเมินจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบของความเป็นมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับสังคมและคนอื่น ดังนั้นการประเมินผู้เรียนจึงต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลต่าง ๆ ได้แก่ พ่อ แม่ เพื่อน ๆ และตัวผู้เรียนเอง ซึ่งถือว่าเป็นหลักสำคัญ ทำให้กระบวนการประเมินมีความถูกต้องแม่นยำ
6. หัวใจหลักของการประเมินคือ การประเมินผลวิธีการเรียนรู้ วิธีการคิดและวิธีการที่จะเป็นผู้มีสติปัญญา เป็นคนดี มีคุณธรรมด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่หลากหลายเท่าที่จะทำได้
7. การประเมินกระบวนการเรียนรู้มีความสำคัญเท่าเทียมกับการประเมินเนื้อหาสาระหลักสูตร
8. ผู้เรียนเป็นผู้มีความรับผิดชอบและสามารถประเมินตนเองได้ ดังนั้นผู้เรียนจึงมีส่วนร่วมในการวางแผนและการประเมินการเรียนรู้
9. หลักสูตรและเป้าหมายของสถานศึกษาถูกขับเคลื่อนโดยศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน
10.การประเมินเพื่อแสดงความเจริญงอกงามของความรู้และความสามารถของผู้เรียนอย่างเชื่อถือได้จะใช้โค้งการแจกแจงคะแนนแบบรูปตัวเจ
11.นักการศึกษาใช้โมเดลพัฒนาการมนุษย์เพื่อความเข้าใจพัฒนาการของผู้เรียน
12.ผู้เรียนแต่ละคนมีขั้นพัฒนาการที่ต่างกัน ดังนั้นการประเมินและทดสอบต้องเป็นแบบเฉพาะแต่ละบุคคลและมีความเหมาะสมกับพัฒนาการและให้สารสนเทศของวิธีการที่จะนำมาสอนผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ผู้เรียนให้มีความสำเร็จมากขึ้น
13.การสร้างแบบประเมินและแบบทดสอบนั้น สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง คือ ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวผู้เรียน ประสิทธิภาพของเครื่องมือไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ถ้าการประเมินนั้นสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนและช่วยให้ผู้เรียนปรับปรุงคุณภาพชีวิตได้
14.การประเมินเน้นการใช้เพื่อเพิ่มและเสริมกำลังใจในการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ลุ่มลึก และเพื่อขยายความสามารถของผู้เรียนให้ถ่ายโยงการเรียนรู้สู่ชีวิตจริงนอกระบบโรงเรียน
15.เป็นการประเมินที่มุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุง ดังนั้นงาน/กิจกรรมที่ใช้ประเมินจึงเปิดเผย ไม่เป็นความลับ
16.เป็นการเรียนรู้ที่เน้นที่สติปัญญา ความสามารถและกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาการของทักษะความคิด และความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหาหลักสูตรกับชีวิตจริง มีลักษณะเป็นพลวัต
17.ความก้าวหน้าทางวิชาการควรประเมินด้วยการนำการปฏิบัติที่อิงการวิจัยและเป็นปัจจุบันเข้ามาผสมผสานกับองค์ประกอบทางจิตวิทยาและด้านความคิด และความแตกต่าง ความต้องการของแต่ละบุคคล
18.การเรียนรู้เป็นเรื่องของดุลยพินิจของบุคคลที่จะรับรู้เข้าใจตนเองและโลกภายนอกซึ่งมีการปรับเปลี่ยน ขยาย เจาะลึก และเสริมต่อ
19.การสอนที่ประสบความสำเร็จ คือการตระเตรียมผู้เรียน เพื่อมีชีวิตที่มีประสิทธิภาพตลอดช่วงชีวิต ดังนั้นจะเน้นการประเมินเพื่อการเรียนการสอนมีการถ่ายโยงการเรียนรู้ไปสู่ชีวิตนอกห้องเรียนเข้าสู่ชีวิตประจำวัน

หลักการพื้นฐานสำหรับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน
หลักการพื้นฐานของการวัดและประเมินการเรียนรู้สามารถนำหลักการวัดและประเมินผลการศึกษาที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นมาใช้ประโยชน์ได้ กล่าวคือ หลักการของการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ผู้วัดและประเมินควรกำหนดจุดมุ่งหมายในการประเมินได้ชัดเจน เลือกใช้เครื่องมือได้เหมาะสม ใช้เครื่องมือที่ดีมีคุณภาพ มีข้อมูลที่ดีและครอบคลุม แปลผลได้ถูกต้อง มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด และใช้ผลการวัดและประเมินให้คุ้มค่า แต่อย่างไรก็ตาม หลักการดังกล่าวนี้เน้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิธีการและเครื่องมือของการวัดและประเมินผลมากกว่าตัวบุคคล และกระบวนการในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ หากพิจารณาถึงการจัดการศึกษาตามหลักสูตร การศึกษาขั้นพื้นฐานที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แล้ว จะเห็นได้ว่า สาระสำคัญของมาตราที่ 26 ในวรรคหนึ่งระบุว่า ให้สถานศึกษาจัดการประเมินโดยพิจารณาพัฒนาการของผู้เรียน ความประพฤติ การสังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรมและการทดสอบควบคู่ไปในกระบวนการเรียนการสอนตามความเหมาะสมของแต่ละระดับและรูปแบบ การศึกษาเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้หลักการพื้นฐานของการวัดและประเมินการเรียนรู้จึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวด้วย ในเรื่องนี้ บุญเชิด ภิญโญอนันตพงษ์ (2543: 27–38) ได้นำเสนอหลักการของการประเมินการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไว้ 7 ประการ คือ
1. ต้องการความคิดที่ชัดเจนและสื่อสารเข้าใจ หลักการนี้กล่าวว่า ผู้สอนต้องมีความคิดที่ชัดเจนเกี่ยวกับความหมายของความสำเร็จทางวิชาการในชั้นเรียน กล่าวคือ การที่จะบอกว่าผู้เรียนคนใดมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมากน้อยเพียงใดนั้น ผู้สอนไม่ควรคำนึงถึงเฉพาะแต่เพียงปริมาณของจุดหมายของผลสัมฤทธิ์ที่นิยามการใช้คะแนนบอกผลการประเมินเท่านั้น จำเป็นต้องทราบว่าตัวเลขไม่ใช่วิธีการเพียงวิธีเดียวในการบอกความหมายของผลสัมฤทธิ์ เราสามารถใช้คำ ภาพ การแสดง ตัวอย่างและวิธีการอื่น ๆ ในการสื่อความหมายของผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนให้ตัวผู้เรียน ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทราบได้
2. ต้องเป็นการประเมินในระดับชั้นเรียน หลักการนี้กล่าวว่า การประเมินการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญควรเป็นการประเมินระดับชั้นเรียนที่สนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนมากกว่าเป็นการประเมินมาตรฐานความรู้ระดับกลุ่มโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ เนื่องจากการประเมินที่กล่าวมานี้เป็นการประเมินโดยภาพรวมของสถานศึกษาที่ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้เรียน ผลการดำเนินการของผู้สอนที่ทำการประเมินควบคู่ไปกับการเรียนรู้ของผู้เรียนในแต่ละวันจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจของผู้เรียน ผู้สอน พ่อแม่ผู้ปกครอง โดยมีผู้สอนเป็นผู้ขับเคลื่อนระบบการประเมินเพื่อให้สถานศึกษานั้น ๆ มีประสิทธิภาพ
3. ผู้ใช้ผลการประเมินที่สำคัญที่สุดคือ ผู้เรียน หลักการนี้กล่าวว่า สารสนเทศของการประเมินในชั้นเรียนที่แสดงให้เห็นหลักฐานความสำเร็จของผู้เรียน ซึ่งเป็นหลักฐานอันเกิดจากผู้สอนได้ทำการประเมินในชั้นเรียนอย่างต่อเนื่อง จะเป็นแรงกระตุ้นที่เป็นพลังอันสำคัญทำให้ผู้เรียนเห็นความสำเร็จของตนและคาดหวังความสำเร็จที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดไปด้วย
4. จุดหมายการเรียนรู้ที่ชัดเจนและเหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญในการประเมิน หลักการนี้กล่าวว่า การประเมินการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ผู้สอนจะต้องรู้และเข้าใจจุดหมายของการเรียนรู้ที่ชัดเจนและเหมาะสมกับผู้เรียน จึงจะทำให้ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการประเมินนั้นมีความหมายต่อผู้เรียน
5. การประเมินเป็นกระบวนการเรียนการสอนอย่างหนึ่ง หลักการนี้กล่าวว่า ผู้สอนจะต้องมีความคิดรวบยอดว่าการประเมินเป็นกระบวนการเดียวกับการเรียนการสอน การประเมินสามารถเป็นเครื่องมือของการสอนที่มีคุณภาพได้ ทั้งนี้ผู้สอนควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมิน โดยผู้เรียนมีส่วนร่วมในการคิดวิเคราะห์งานที่ส่งผลต่อจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ ตลอดจนการเรียนรู้ที่จะทำการประเมินตนเองและผู้อื่นได้อย่างมีมาตรฐาน
6. ต้องเข้าใจความรู้สึกส่วนบุคคล หลักการนี้กล่าวว่า เนื่องจากการประเมินเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยบุคคลที่มีความรู้สึกนึกคิดในลักษณะของปุถุชนที่สามารถเกิดความลำเอียงเข้าข้างตนเองและบุคคลที่รักได้ แต่ผู้สอนควรจะมีจุดยืนที่ต้องใช้วิธีการประเมินที่เป็นปรนัยให้มากที่สุด ควบคุมความลำเอียงที่เกิดจากความคิดเห็นส่วนตัวให้น้อยกว่าความคิดเห็นเชิงวิชาการที่สร้างสรรค์การประเมินต้องมีคุณภาพ หลักการนี้กล่าวว่า การประเมินที่มีคุณภาพสูงมีเกณฑ์ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานของการประเมินอยู่ 5 ประการ คือ จุดมุ่งหมายของการประเมินต้องชัดเจน จุดหมายของการเรียนการสอนต้องชัดเจน ใช้วิธีการที่เหมาะสม สุ่มตัวอย่างการปฏิบัติได้ดี และการประเมินต้องแม่นยำปลอดจากความลำเอียงและสิ่งที่บิดเบือน ผลของการประเมินที่เกิดจากการใช้มาตรฐานทั้ง 5 ประการนี้จะทำให้ได้สารสนเทศเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ตรงกับธรรมชาติของสิ่งที่มุ่งประเมินซึ่งถือว่าเป็นผลการประเมินที่มีคุณภาพนั่นเอง