วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

การสอนภาษาไทย

ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติที่มีความสำคัญต่อคนไทยเป็นอย่างยิ่ง ดังพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า “...ประเทศไทยนั้นมีภาษาของเราเอง ซึ่งต้องหวงแหน...เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาลจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้” (2505 : 201)
ภาษาไทยมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนไทยในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมประจำชาติและยังเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญ เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างเอกภาพของชาติทำให้เกิดความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดจนเป็นเครื่องมือที่ใช้พัฒนาคนในชาติ เพราะการศึกษาเล่าเรียนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการถ่ายทอดความคิดศิลปวิทยาการล้วนต้องใช้ภาษาทั้งสิ้น ดังนั้น ภารกิจของการศึกษาประการหนึ่งก็คือการสอนภาษาไทยให้คนในชาติสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและใช้ภาษาไทยเพื่อการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเอง และสามารถสืบทอดมรดกทางภาษาซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาติ มีความชื่นชมที่จะใช้ภาษษไทยได้อย่างูกต้องและมีเจตนคติที่ดีต่อภาษาไทย(ศูนย์พัฒนาหลักสูตร กระทรวงศึกษาธิการ. 2532 : 76) ดังนั้นการศึกษาวิชาภาษาไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนในชาติของเรา ซึ่งวรรณี โสมประยูร (2534 : 28) ได้สรุปความสำคัญของการสอนภาษาไทยไว้ตอนหนึ่งว่า มนุษย์ได้ใช้ทักษะการฟัง พูด อ่านและเขียน เป็นเครื่องมือในการศึกษาความรู้ เพื่อประกอบอาชีพ พัฒนาบุคลิกภาพและสร้างเสริมคุณภาพชีวิตในด้านอื่น ๆ เพราะคนเราได้รับความรู้ ความคิดต่าง ๆ จากการฟัง การอ่าน แล้วการเขียนบันทึกไว้เพื่อพูดหรือเขียนถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจอีกทอดหนึ่ง การเขียนของนักเรียนที่อ่อนภาษาจึงทำให้อ่อนวิชาอื่น ๆ ด้วย
ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทยกระทรวงศึกษาธิการจึงกำหนดให้หลักสูตรประถมศึกษาพุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) ได้บรรจุวิชาภาษาไทยให้อยู่ในกลุ่มทักษะที่เป็นเครื่องมือการเรียนรู้และได้กำหนดจุดประสงค์ของการสอนภาษาไทยไว้ดังนี้
1. มีทักษะในการฟัง พูด อ่าน และเขียน โดยมีความรู้ความเข้าใจหลักเกณฑ์อันเป็นพื้นฐานของการเรียนภาษา
2. สามารถใช้ภาษาติดต่อทั้งการรับรู้และถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดอย่างมีประสิทธิภาและสัมฤทธิผล
3. สามารถใช้ภาษาได้ถูกต้องเหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคลตลอดจนสามารถใช้ภาษาในเชิงสร้างสรรค์ได้
4. มีนิสัยรักการอ่าน รู้จักเลือกหนังสืออ่านและใช้เวลาว่างในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือ สื่อมวลชน และแหล่งความรู้อื่น ๆ
5. สามารถใช้ประสบการณ์จากการเรียนภาษาไทยมาช่วยในการคิด ตัดสินใจ แก้ปัญหา และวินิจฉัยเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างมีเหตุผล
6. มีความรู้ความเข้าใจและเจตคติที่ถูกต้องต่อการเรียนภาษาไทยและวรรณคดี ทั้งในด้านวัฒนธรรมประจำชาติและการเสริมสร้างความงดงามในชีวิต(กระทรวงศึกษาธิการ. 2535 : 7)
จากจุดประสงค์ของหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทยมีความมุ่งหมายให้ผู้เรียนได้มีโอกาสพัฒนาการทางภาษาในด้านการฟัง พูด อ่าน เขียน สำหรับด้านการเขียนนั้น การเรียนภาษาไทยจึงควรเน้นสัมฤทธิ์ผลของทักษะการเข้าใจทางภาษา คือ การฟังการอ่านและทักษะการใช้ภาษาคือการ พูดและการเขียน จนสามารถใช้เป็นเครื่องมือให้เกิดความเข้าใจแสวงหาความรู้และมีเหตุผลเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอันจะนำไปสู่การมีชีวิตที่ผาสุกในสังคม ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่โดยตรงในการสอนภาษาไทยให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายคือ ครูซึ่งควรตระหนักถึงความมุ่งหมายดังกล่าวเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนสำหรับวิธีการสอนภาษาไทยให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายคือครูซึ่งควรตระหนักถึงความมุ่งหมายดังกล่าวเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยขึ้น ทรง จิตปราสาท (2526 : 23 ) ได้กล่าวไว้ว่า มีวิธีการสอนหลายวิธี ครูควรเลือกใช้วิธีใดก็ได้ที่เห็นว่าเหมาะสมและตรงตามความถนัดของครู โดยให้การดำเนินการสอนนั้นทำให้เด็กเรียน ฟัง พูด อ่าน และเขียน ได้ถูกต้องรวดเร็วและสัมพันธ์กัน เรียนด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน การสอนจะต้องจัดให้มีการสอนครบ 6 ประการดังต่อไปนี้
1. สอนสระ พยัญชนะ ให้บอกชื่อ ออกเสียง และเขียน ให้ถูกต้องจะสอนครบทุกตัวทันทีหรือจะสอนบางตัวโดยเริ่มจากพยัญชนะที่เด็กได้พบก่อนแล้วค่อยเพิ่มขึ้นจนครบทุกตัวแล้วนำมาเรียงลำดับให้ถูกต้องในภายหลังก็ได้
2. สอนคำ ให้อ่าน – เขียน ให้ถูกต้องรู้ความหมาย
3. สอนประโยค ให้อ่าน เขียน ให้ถูกต้องรู้ความหมายและใช้คำเรียงประโยคได้ถูกต้องทั้งในการพูดและการเขียน
4. สอนแจกลูก ให้สามารถจับหลักเกณฑ์วิธีออกเสียงผสมพยัญชนะกับสระ เพื่อนำไปใช้ในการอ่านและเขียนคำที่ต้องการได้
5. สอนฝันให้สามารถจับหลักเกณฑ์วิธีออกเสียง ผันวรรณยุกต์ เพื่อนำไปใช้ในการอ่านและการเขียนคำที่ต้องการได้
6. สอนการใช้ภาษาไทย ให้สามารถใช้ภาษาไทยสื่อความหมายแสดงความคิดเห็น ความรู้สึกทั้งการพูด และการเขียนได้ถูกต้องทั้งสะกดตัวและความหมายได้ดี ตามวัยและระดับชั้นเช่น ในการอภิปราย เล่าเรื่อง แต่งความ จดหมาย เป็นต้น
การจัดการเรียนการสอนภาษาไทยมิได้มุ่งเพียงการอ่านออกเขียนได้แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เน้นที่ผลสัมฤทธิ์ของทักษะความเข้าใจภาษา คือการฟังและการอ่าน ทักษะการใช้ภาษาคือการพูดและการเขียน จนสามารถใช้ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อความคิด ความเข้าใจ การหาเหตุผล แสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ จึงควรยึดแนวการสอนดังนี้
1. การสอนภาษาไทยให้สอดคล้องกับการใช้ภาษาในชีวิตนำภาษาที่ผู้เรียนพบเห็นและใช้อยู่ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ที่บ้านที่โรงเรียน ตลาด ชุมชน ภาษาจากวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์เป็นต้น มาเป็นสื่อในการเรียนรู้เพื่อที่ผู้เรียนจำนำความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ได้รับๆปใช้ให้เกิดผลสำเร็จในชีวิต
2. สอนทักษะทั้งสี่ ให้สัมพันธ์กันทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน ซึ่งเป็นกระบวนการการใช้ภาษาที่ถูกต้อง แต่อาจจะแยกย่อยออกฝึกฝนแต่ละทักษะในกรณีการสอนซ่อมเสริมได้
3. ฝึกฝนให้เรียนรู้ด้วยความเข้าใจมากกว่าการท่องจำ เน้นการฝึกฝนจนเกิดความคิดรวบยอดสามารถสรุปหลักเกณฑ์ได้ด้วยตนเอง
4. ฝึกฝนให้ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้และเรียนด้วยตนเองให้มากโดยมีครูคอยแนะนำ ทั้งนี้เพื่อปลูกฝังนิสัยใคร่รู้ ใคร่เรียน และแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
5. จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สนุกสนาน น่าสนใจเพื่อให้ผู้เรียนเกิดไม่เกิดความเบื่อหน่ายในการฝึกฝนบ่อย ๆ และซ้ำ ๆทั้งยังเป็นการปลูกฝังความรักในการเรียนภาษาไทยอีกด้วย
6. ฝึกให้เป็นคนช่างคิด ช่างสังเกต การใช้ภาษาที่พบเห็นในที่ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความคิดและมีประสบการณ์กว้างขวางยิ่งขึ้น
7. ในการฝึกทักษะ ถ้าครูพบข้อบกพร่องควรหาสาเหตุและแก้ไขให้ถูกจุดและทันเวลา การสอนซ่อมเสริมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อ่อนในทางทักษะ
8. เลือกใช้วิธีที่เหมาะสมหลาย ๆ วิธีตลอดจนการใช้สื่อการเรียนที่มีประสิทธิภาพเพื่อมิให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่าย(สุชาดา วัยวุฒิ. 2529:64-65)
ประดินันท์ อุปรนัย (2529 :25) ได้กล่าวถึงการสอนภาษาไทยว่า การสอนภาษาไทยจะไม่มุ่งสอนทักษะใดทักษะหนึ่งเพียงทักษะเดียว แต่จะสอนให้นักเรียนมีโอกาสพัฒนาทักษะทางภาษาทั้ง 4 ด้านไปพร้อม ๆ กันโดยอาจเน้นทักษะใดทักษะหนึ่งในการสอนครั้งหนึ่ง ๆ มากกว่าทักษะอื่น ๆ ได้นอกจากนี้กรมวิชาการ,กระทรวงศึกษาธิการ(2535: ก-จ) ยังได้แนะนำแนวทางการสอนภาษาไทย ระดับประถมศึกษาไว้หลายวิธีดังนี้
1. การสอนภาษาไทยโดยใช้ประสบการณ์ทางภาษา การสอนวิธีนี้เป็นลักษณะของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยสร้างประสบการณ์ทางภาษาให้แก่เด็ก ให้เด็กได้คิด ฟัง พูด อ่านและเขียน เป็นหลัก มีขั้นตอนในการสอนดังนี้
ขั้นที่ 1 สร้างประสบการณ์ร่วม โดยครูอาจใช้รูปภาพให้นักเรียนดู สนทนาเกี่ยวกับภาพ อ่านหรือเล่าเรื่องให้ฟัง
ขั้นที่ 2 กระตุ้นให้คิด หลังจากฟังเรื่องและดูภาพแล้วครูซักถามโดยใช้คำถามนำให้นักเรียนคิดและอภิปรายร่วมกัน
ขั้นที่ 3 บันทึกข้อความ เมื่อนักเรียนเข้าใจและคิดเรื่องที่ฟังตรงกันแล้วให้นักเรียนเล่าเรื่องที่ฟัง ครูบันทึกข้อความบนกระดานดำ ถ้านักเรียนใช้คำพูดหรือภาผิด ครูแก้ไขให้
ขั้นที่ 4 อ่านข้อความที่บันทึกครูให้นักเรียนฝึกอ่านข้อความที่บันทึกเป็นรายบุคคลและเป็นรายกลุ่มจนคล่อง
ขั้นที่ 5 จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเขียน เช่น ฝึกอ่านบัตรคำ หรือแถบประโยคเขียนเรื่องราวจากประสบการณ์หรือจากการอ่านหนังสือร่วมกัน
2. การสอนภาษาไทยโดยใช้หนังสือเรียน วิธีสอนนี้ฝึกหนังสือรัยนเป็นหลัก มีขั้นตอนในการสอนดังนี้
ขั้นที่ 1 นำเข้าสู่บทเรียน และทบทวนประสบการณ์พื้นฐานการเรียนแก่ผู้เรียนด้วย เพื่อเชื่อมโยงประสบการณ์เก่ากับประสบการณ์ใหม่ในบทเรียน
ขั้นที่ 2 สอนคำใหม่ทบทวนคำเก่า
ขั้นที่ 3 บอกจุดประสงค์ของการอ่านให้นักเรียนทราบ เช่น อ่านเพื่อเขียนเล่าเรื่อง
ขั้นที่ 4 อ่านในใจและอ่านออกเสียงโดยครูแนะนำวิธีการอ่าน และให้นักเรียนฝึกอ่านออกเสียงเป็นกลุ่มและรายบุคคล ครูแก้ไขข้อบกพร่องในการอ่าน
ขั้นที่ 5 จัดกิจกรรมฝึกฝนทักษะทางภาษา เช่น เกมทางภาษา ทำแบบฝึกหัด และกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่ครูกำหนดในคู่มือครู
3. การสอนภาษาไทยโดยใช้วิธีการทางหลักภาษา เป็นการสอนสะกดคำ แจกลูก ผันอักษร โดยเริ่มจากให้เด็กรู้จักเสียงพยัญชนะ สระ และจำรูปพยัญชนะ สระให้ได้เสียก่อนจึงนำมาสะกดคำและแจกลูก มีขั้นตอนการสอนดังนี้
ขั้นที่ 1 ฝึกสะกดคำให้คล่อง
ขั้นที่ 2 สังเกตการวางพยัญชนะ สระขงคำ แล้วฝึกสะกด
ขั้นที่ 3 สอนความหมายของคำโดยใช้ภาพ หรือทำท่าทางประกอบ
ขั้นที่ 4 นำคำที่สะกดแล้วมาอ่านเป็นคำโดยไม่ต้องสะกดคำใดอ่านไม่ได้ให้ใช้การสะกดช่วย โดยให้นักเรียนเขียนตามคำบอกจนจำได้
ขั้นที่ 5 นำคำที่อ่านได้แล้วมาใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้ง ฟัง พูด อ่านและเขียน โดยเน้นการอ่านและเขียน บ่อย ๆ
4. การสอนภาษาไทยโดยการอ่านหนังสือเป็นรายบุคคล มีขั้นตอนการสอนดังนี้
ขั้นที่ 1 เลือกหนังสือ โดยให้นักเรียนเลือกหนังสือตามความสนใจและความสามารถของแต่ละคน
ขั้นที่ 2 ตั้งจุดมุ่งหมายและวางแผน คือให้นักเรียนตั้งจุดมุ่งหมายในหารอ่าน เช่นอ่านแล้วทำกิจกรรมอะไร จะใช้เวลาอ่านเท่าไร เป็นต้น
ขั้นที่ 3 ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ และนำเสนอผลการอ่านให้ครูฟัง
ขั้นที่ 4 ทำกิจกรรมหลังการอ่าน เช่นเขียนเรื่องย่อ เขียนข้อคิดจากเรื่องที่อ่าน วาดภาพในเรื่อง เขียนคำบรรยายประกอบภาพ
ขั้นที่ 5 เสนอผลงานและประเมินผลงาน
เพื่อให้การสอนภาษาไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงได้ประสบประสานการสอนทั้ง 4 วิธีเข้าด้วยกัน เป็นการสอนภาษาไทยแบบประสมประสาน โดยจัดลำดับการสอนไว้ดังนี้
ขั้นที่ 1 การสอนโดยใช้ประสบการณ์ทางภาษาจากหนังสือเรียน
ขั้นที่ 2 การสอนอ่านในใจจากหนังสือเรียน
ขั้นที่ 3 การสอนสะกดคำจากแบบฝึกในหนังสือเรียน
ขั้นที่ 4 การสอนออกเสียงจากหนังสือเรียน
ขั้นที่ 5 การฝึกการใช้ภาษา
ขั้นที่ 6 การจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะทางภาษาและการอ่านเป็นรายบุคคล
ขั้นที่ 7 การสอนซ่อมเสริมจะเห็นได้ว่า การสอนภาษาไทยในระดับประถมศึกษานั้นไม่ว่าจะใช้วิธีการสอน หรือกิจกรรมใดก็ตาม ครูจำเป็นจะต้องฝึกทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียน ให้สัมพันธ์กันไม่ควรแยกเป็นทักษะใดทักษะนึ่งโดยเฉพาะ เพราะการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันของนักเรียนจำเป็นต้องใช้ทักษะทั้ง 4 อยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นในการเรียนการสอนครูจึงต้องให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะเหล่านี้ให้ดีที่สุดเพราะนอกจากทักษะทั้ง 4 จะมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดแล้วยังเป็นนพื้นฐานสำคัญของการเรียนวิชาต่าง ๆ และสามารถนำทักษะการใช้ภาษาดังกล่าวไปใช้ในการติดต่อสื่อสารในสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: