วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

บทบาทผู้บริหารให้บุคลากรพ้นจากงาน

การบริหารการศึกษาในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารบุคลากรนั้น ผู้บริหารการศึกษามีภารกิจต้องจัดทำตั้งแต่บุคลากรเข้าสู่องค์การ ไปจนกระทั่งบุคลากรพ้นจากงาน ในส่วนที่เกี่ยวกับการให้บุคลากรพ้นจากนั้นงาน ผู้บริหารจำเป็นต้องจัดทำให้รอบคอบ และรัดกุมที่สุด เพื่อบุคลากรได้ความรู้สึกที่ดี มีความผูกพันต่อองค์การ และให้ความช่วยเหลือสนับสนุนองค์การหลังจากพ้นจากงานในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง บทนี้จะกล่าวถึงบทบาทของผู้บริหารการศึกษาในการให้บุคลากรพ้นจากงานซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไป

ความหมายของการให้บุคลากรพ้นจากงาน

กิติมา ปรีดีดิลก (2532 : 123) ให้คำจำกัดความว่า การให้พ้นจากงาน เป็นกระบวนการบริหารบุคคลขั้นสุดท้ายเพราะเป็นการที่บุคคลในหน่วยงานพ้นจากหน้าที่ราชการหรือหมดสิทธิที่จะได้รับเงินเดือนนั้น ๆ
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ให้คำจำกัดความการให้บุคลากรพ้นจากงานว่า การออกจากราชการ หมายถึง การพ้นจากการเป็นข้าราชการ ซึ่งมีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 112 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ดังนี้คือ "ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการเมื่อ
(1) ตาย
(2) พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(3) ลาออกจากราชการและได้รับอนุญาตให้ลาออกหรือการลาออกมีผลตามมาตรา113
(4) ถูกสั่งให้ออกตามมาตรา 54 มาตรา 67 มาตรา 107 มาตรา 114 มาตรา115 มาตรา 116 มาตรา 117 มาตรา 118 หรือมาตรา 123 หรือ
(5) ถูกสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออก
วันออกจากราชการตาม (4) และ (5) ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.พ. วางไว้การต่อเวลาราชการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญที่ต้องออกจากราชการตาม (2) รับราชการต่อไป จะกระทำมิได้"
ผู้เขียนเห็นว่าการให้บุคคลพ้นจากงาน หมายถึง การที่บุคลากรในหน่วยงานพ้นจากหน้าที่การงานหรือหมดสิทธิ์ในการรับค่าจ้าง และเงินเดือน
การให้บุคลากรพ้นจากงานในองค์การทั้งภาครัฐและเอกชน เกิดจากหลายสาเหตุแต่ที่ยกมากล่าวในที่นี้จะเป็นการให้บุคลากรพ้นจากงานเป็นของภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ ดังจะได้กล่าวโดยละเอียดต่อไป

การลาออก

การลาออก (resignation) เป็นของธรรมดาที่สุดในการพ้นจากงานของบุคลากร ซึ่งมักเกิดจากความต้องการของบุคลากรมากกว่าของระบบงาน เช่น อาจมีเหตุผลในเรื่องการต้องการค่าตอบแทนสูงขึ้น การเจ็บป่วย การเลื่อนตำแหน่ง การย้ายที่อยู่ใหม่ ความต้องการเป็นแม่บ้าน เป็นต้น โดยที่การลาออกย่อมก่อให้เกิดปัญหาด้านการบริหารงานบุคคลเพราะอย่างน้อยจะต้องมีการสรรหาและคัดเลือกบุคคลใหม่มาปฏิบัติงานแทน ถ้าเป็นตำแหน่งที่ต้องการความรู้ ความสามารถ ความมีประสิทธิภาพสูง ก็จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการสรรหา และ การคัดเลือกรวมทั้งเสียเวลาในกระบวนการดังกล่าว
กิติมา ปรีดีดิลก (2532 : 126) ให้ความเห็นว่า ข้าราชการมีสิทธิจะลาออกจากหน้าที่การงานได้ด้วยความสมัครใจทุกโอกาส เว้นแต่กรณีที่ผู้นั้นอยู่ในระหว่างปฏิบัติงานสำคัญ ๆ หรือการสอบสวนคดียังไม่เสร็จสิ้น กับในกรณีที่ผู้นั้นได้รับผลประโยชน์จากรัฐบาลและมีข้อผูกพันอยู่
เมธี ปิลันธนานนท์ (2529 : 176) ตั้งข้อสังเกตว่า การลาออกบุคลากรควรได้รับความสนใจจากผู้บริหาร เพราะเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลาออกที่เป็นผลเนื่องมาจากการนิเทศงานบกพร่อง และภาวะการปฏิบัติงานไม่เป็นที่น่าพอใจ การลาออกของบุคลากรในโรงเรียนย่อมก่อให้เกิดการชะงัก หรือขัดขวางกระบวนการเรียนการสอนใน โรงเรียนได้
ดังนั้น การลาออกจากงานจะต้องมีการวิเคราะห์ เช่น การวิเคราะห์โดยใช้ข้อเสนอแนะของ เคย์ (เมธี ปิลันธนานนท์. 529 : 176 ; อ้างอิงมาจาก Kay. 1974) ดังนี้
1. สัมภาษณ์ผู้กำลังออกจากงานและส่งแบบสอบถามให้ตอบหกเดือนภายหลังจากการจากไปของบุคลากรแล้ว
2. วิเคราะห์โดยทางสถิติ เช่น อัตราการลาออกของบุคลากรในระบบโรงเรียนอาจคำนวณได้เป็นอัตราส่วนของการพ้นจากงาน กับจำนวนกำลังงานทั้งหมด คูณด้วย 100
3. เปรียบเทียบตามระดับขั้นหรือตามประเภท เช่น ผู้ที่ลาออกที่เราไม่อยากให้ลาออกเพราะเห็นคุณค่าในตัวเขา กับผู้ที่ลาออกที่เรารู้สึกไม่เสียหายในการลาออกของเขาเป็นต้น
4. วิเคราะห์ขอบเขตของงานที่มีการลาออกน้อย การลาออกจากราชการ ได้มีบัญญัติไว้ในมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้
"นอกจากกรณีตามวรรคสี่ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดประสงค์จะลาออกจากราชการ ให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 52(มาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการครู พ.ศ. 2523) เป็นผู้พิจารณาอนุญาต
ในกรณีที่มีผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 52 พิจารณาเห็นว่าจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ราชการจะยับยั้งการอนุญาตให้ลาออกไว้เป็นเวลาไม่เกินเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันขอลาออกก็ได้ แต่ต้องแจ้งการยับยั้งการอนุญาตให้ลาออกพร้อมทั้งเหตุผลให้ผู้ขอลาออกทราบ และเมื่อครบกำหนดเวลาที่ยับยั้งแล้วให้การลาออกมีผลตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดเวลาที่ยับยั้ง ถ้าผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 52 ไม่ได้อนุญาตให้ลาออกตามวรรคหนึ่ง และไม่ได้ยับยั้งการอนุญาตให้ลาออกตามวรรคสอง ให้การลาออกนั้นมีผลตั้งแต่วันขอลาออก
ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดประสงค์จะลาออกจากราชการ
เพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเพื่อสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อผู้บังคับบัญชา และให้
การลาออกมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้นั้นขอลาออก
หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับลาออก การพิจารณาอนุญาตให้ลาออกและการยับยั้งการอนุญาตให้ลาออกจากราชการตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.พ. วางไว้ ดังนั้น การลาออกจากราชการจึงแยกได้เป็น 2 กรณี คือ
ก. ลาออกจากราชการเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง
ข. ลาออกจากราชการในกรณีอื่น ๆ
วิธีปฏิบัติในการลาออกจากราชการ มีขั้นตอนปฏิบัติดังนี้
1. ต้องทำเป็นหนังสือขอลาออก ตามแบบหนังสือขอลาออกจากราชการ ให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปหนึ่งชั้น ต้องลงลายมือชื่อผู้ขอลาออกอย่างชัดเจนส่งก่อนกำหนดวันลาออกไม่น้อยกว่า 30 วัน เว้นแต่ลาออกเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง
2. ต้องยื่นหนังสือขอลาออกต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปชั้นหนึ่ง เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาอนุญาต ถ้าผู้บังคับบัญชาที่รับหนังสือขอลาออกไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจอนุญาตการลาออก ก็จะได้เสนอใบลาต่อไปตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตการลาออก คำว่า ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปชั้นหนึ่ง ที่จะให้ยื่นใบลาถึงนั้น หมายถึงผู้บังคับบัญชาในลำดับแรกเหนือผู้ขอลาออก
3. ผู้ขอลาออกต้องรอฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาว่า จะอนุญาตการลาออกตามขอ หรือจะยับยั้งการอนุญาตให้ลาออกไว้นานเท่าใด
4. ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับอนุญาตการลาออก จะหยุดราชการไปเลยยังไม่ได้ จะต้องอยู่ปฏิบัติราชการไปก่อน (เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ลากิจหรือลาป่วย) จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้ลาออก หรือครบ 3 เดือน นับตั้งแต่วันขอลาออก ซึ่งพ้นกำหนดที่จะยับยั้งการอนุญาตการลาออกแล้ว จึงจะออกจากราชการได้ หากหยุดราชการไปก่อนครบ 3 เดือนนับแต่วันลาออกโดยยังไม่ได้รับอนุญาตให้ลาออก จะเป็นการกระทำผิดวินัย ฐานละทิ้งหน้าที่ราชการ อาจถูกลงโทษทางวินัยสถานหนัก ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นเฉพาะการลาออกไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งยื่นใบลาออกแล้วหยุดราชการไปได้เลย โดยไม่ต้องรอรับอนุญาต เพราะกฎหมายบัญญัติให้การลาออกโดยผู้บังคับบัญชาจะยับยั้ง มิได้ ในระหว่างที่ยังไม่มีคำสั่งของผู้บังคับบัญชาสั่งอนุญาตให้ลาออก ผู้ขอลาออกจะขอถอนใบลาออกก็ได้ แต่ต้องเป็นลายลักษณ์อักษรเสนอถึงผู้มีอำนาจการลาออก ก่อนที่จะมีคำสั่งอนุญาตให้ลาออก (ประวีณ ณ นคร. 2536 : 143)
พอสรุปได้ว่าการลาออกของบุคลากรทางการศึกษาควรจัดกระบวนการการบริหารให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ โดยให้บุคลากรที่จะลาออก แจ้งการลาออกเป็นลายลักษณ์อักษร แจ้งให้บุคลากรในระบบโรงเรียนทราบเรื่องการลาออกของสมาชิกและสัมภาษณ์บุคลากรที่กำลังจะออกจากงาน เพื่อจะได้ทราบสาระอันเป็นประโยชน์ ต่อการวิเคราะห์ระบบงานเพื่อทำให้สามารถควบคุมการลาออกและป้องกัน

การเกษียณอายุ

กิติมา ปรีดีดิลก (2532 : 127) อธิบายว่า การให้บุคลากรพ้นจากงาน โดยสาเหตุที่มีอายุขั้นสูงสุด ซึ่งหมายถึงการเกษียณอายุ(retirement) ตามที่องค์การกำหนดไว้ ทางราชการกำหนดให้บุคลากรที่มีอายุครบ 60 ปี ต้องออกจากราชการไป และมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ประวีณ ณ นคร (2536 : 161) กล่าวถึง มาตรา 19 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2518 ซึ่งกำหนดว่า ข้าราชการที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ออกจากราชการในกรณีนี้เรียกกันเป็นที่เข้าใจว่า ออกเพราะครบเกษียณอายุราชการนั่นเอง
การออกจากราชการเพราะครบเกษียณอายุ มีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
1. ก่อนสิ้นเดือนกันยายนของทุกปี ก.พ. (หรือ ก.ค.) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมเกษียณอายุของข้าราชการพลเรือน (หรือข้าราชการครู) จะสำรวจรายชื่อข้าราชการซึ่งจะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในปีงบประมาณถัดไป แล้วแจ้งรายชื่อให้กระทรวงเจ้าสังกัดและกระทรวงการคลังทราบเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 (ในทางปฏิบัติ ก.พ. หรือ ก.ค. จะแจ้งให้กรมเจ้าสังกัดทราบด้วย)
2. เมื่อส่วนราชการต่าง ๆ ได้รับรายชื่อผู้ที่จะครบเกษียณอายุตามที่ ก.พ. แจ้งแล้วต้องรีบดำเนินการดังนี้
2.1 แจ้งให้ผู้ที่จะครบเกษียณอายุทราบภายในเวลาอันสมควร เพื่อจะได้มีเวลาเตรียมตัว เช่น มอบหมายหน้าที่การงาน เป็นต้น
2.2 ประกาศรายชื่อผู้ที่จะครบเกษียณอายุให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ โดยไม่จำต้องทำเป็นคำสั่ง และสำหรับการออกเพราะครบเกษียณอายุของข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ 10 ขึ้นไป ก็เช่นเดียวกัน
2.3 ในกรณีที่ผู้จะครบเกษียณอายุยังได้รับเงินเดือนไม่ถึงขั้นสูงสุดของระดับและมีผลงานความดีความชอบในรอบปีที่ผ่านมา สมควรได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน ผู้บังคับบัญชาจะต้องรีบดำเนินการออกคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนก่อนที่ผู้นั้นจะออกจากราชการไปเพราะหากให้พ้นจากราชการไปก่อนแล้ว จะไม่อาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ได้ (โดยทั่วไปจะสั่งเลื่อนเงินเดือนให้ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน ก่อนออกจากราชการ)
จุดประสงค์ของระบบการเกษียณอายุ ก็เพื่อทำให้สมาชิกขององค์การได้มีชีวิตอยู่ด้วยความสุข ความพอใจ และมีความปลอดภัยตลอดระยะเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ ระบบการเกษียณอายุนี้ อาจช่วยให้สมาชิกในองค์การได้คิดหรือระลึกถึงช่วงเวลาของการเกษียณว่าตนจะดำเนินการชีวิตด้านเศรษฐกิจ และป้องกันอันตรายด้านสุขภาพร่างกายอย่างไรเป็นต้น
เมธี ปิลันธนานนท์ (2529 : 181) ได้แนะนำว่า ระบบโรงเรียนพึงมีความรับผิดชอบต่อการเกษียณอายุของบุคลากรในโรงเรียน อย่างน้อย 3 ประการ คือ
1. ต้องทำให้เกิดความแน่ใจว่าระบบการเกษียณอายุได้มีการวางแผนและดำเนินการใช้แผนนั้นเพื่อให้เกิดความประทับใจ พอใจ และรักษาบุคลากรของโรงเรียนไว้
2. จะต้องจัดให้มีบริการให้คำปรึกษาหารือต่าง ๆ กับบุคลากรของโรงเรียน
ทั้งก่อนและหลังการเกษียณอายุ
3. ต้องรับผิดชอบที่จะเชื่อมโยงแผนงานการเกษียณอายุของบุคลากร กับการปรับปรุงบุคลากรในระบบงาน ความรับผิดชอบประการนี้จะสัมพันธ์กับการพัฒนาการบริหารงานบุคคล ในการที่จะเคลื่อนย้ายบุคลากรออกจากระบบ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน เช่น ไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิผล หรืองานที่ทำในตำแหน่งที่ไม่มีความจำเป็น และไม่ต้องการอีกต่อไป ระบบโรงเรียนจะต้องสนใจโปรแกรมเปลี่ยนแปลงอาชีพของบุคลากรของตนเมื่อเกษียณเป็น 2 ลักษณะ คือ
3.1 ใช้วิธีต่าง ๆ ช่วยบุคลากรให้ปรับตัวจากการที่เคยทำงาน กับไม่ได้ทำงานเมื่อครบเกษียณอายุ
3.2 ใช้วิธีจูงใจบุคคลให้แยกตัวเองออกจากระบบและสามารถเห็นความสุขและสวัสดิการของตนเมื่อครบเกษียณอายุ

การถึงแก่กรรม

กิติมา ปรีดีดิลก (2532 : 127) ให้ความหมายว่า การที่บุคคลต้องพ้นจากหน้าที่การงานเนื่องมาจากการตาย ทำให้หมดสภาพของบุคคลไปโดยธรรมชาติ ถ้าเป็นการตายระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการ ย่อมได้รับการพิจารณาความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษ หากเป็นการถึงแก่กรรมตามปกติ และมีเวลาทำงานครบตามที่ได้วางระเบียบไว้ ผู้นั้นอาจมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญด้วย
สำหรับการถึงแก่กรรมของบุคลากรในโรงเรียน ฝ่ายบุคลากรของโรงเรียนควรมีความรับผิดชอบ ดังนี้ (เมธี ปิลันธนานนท์. 2529 : 182)
การถึงแก่กรรมของบุคลากรในโรงเรียนนั้นฝ่ายบริหารบุคลากรของโรงเรียนควรต้องมีความรับผิดชอบดังต่อไปนี้
1. รับผิดชอบในการรายงาน โดยทั่วไปจะต้องดำเนินการในเรื่องการแจ้งให้
บุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องได้ทราบ รวมทั้งการพ้นจากตำแหน่งหน้าที่และระบบโรงเรียน
2. รับผิดชอบที่จะเป็นตัวแทน โดยต้องทำตัวเป็นตัวแทนในกิจกรรมที่สำคัญ เช่น พิธีทางศาสนา เจ้าภาพพิธีสวดในงานศพ และจัดข่าวสาร ข้อมูลต่าง ๆ การติดต่อ หรือบริการต่าง ๆ ให้แก่ฝ่ายที่ต้องการ เป็นต้น
3. รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงิน ปัญหาเกี่ยวกับการเงินมักเกิดขึ้นได้หลาย ๆ ประการ ประการที่เกี่ยวกับการต้องการออกจากระบบงานของผู้ตาย เงินช่วยเหลือแก่ ผู้ตาย บำเหน็จบำนาญ เป็นต้น
4. รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดบุคคลเข้าแทน การจัดบุคคลเข้าแทนไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม ต้องพิจารณาถึงกระบวนการวางแผนบุคคลที่มุ่งเป็นแนวทางของตำแหน่งที่ว่างลง เช่น ตำแหน่งที่ว่างลงมีความจำเป็นต้องจัดทดแทนหรือไม่ หรือความรับผิดชอบของตำแหน่งที่ว่างลงนั้นจะเชื่อมโยงหรือรวมเข้ากับตำแหน่งอื่นได้หรือไม่ ถ้าต้องตัดสินใจว่าจะยังคงตำแหน่งนั้นไว้ต่อไปก็จะต้องใช้กระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคลากรต่อไป

ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นข้าราชการ

เมื่อข้าราชการขาดคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ต้องออกจากราชการ คือ
1. ขาดคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา30แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 อยู่ก่อนบรรจุเข้ารับราชการ และเพิ่งปรากฏขึ้นเมื่อบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว หรือมีกรณีต้องหาอยู่ก่อนเป็นข้าราชการ และภายหลังขาดคุณสมบัติเนื่องจากกรณีต้องหานั้นเมื่อเป็นข้าราชการแล้ว
2. ขาดคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 30 (1) (4) หรือ (5) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ในระหว่างเป็นข้าราชการ
คุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 30 (1) คือ "สัญชาติไทย" ข้าราชการผู้ใดเสียสัญชาติไทยด้วยเหตุใดก็ตามจะเป็นผู้ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นข้าราชการต่อไปคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 30 (4) คือ "ไม่ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง"ข้าราชการประจำที่ไปดำรงตำแหน่งข้าราชการเมืองย่อมขาดคุณสมบัติที่จะเป็นข้าราชการประจำต่อไป (ยกเว้นระหว่างใช้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งข้าราชการเมืองได้เฉพาะกาล)
คุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 30 (5) คือ "ไม่มีกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดใน กฎ ก.พ. (โรคที่กำหนดในกฎ ก.พ. ฉบับที่ 3 (2535) คือ โรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง และโรคพิษสุราเรื้อรัง)
ข้าราชการผู้ใดขาดคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งบรรจุต้องสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการ

การออกจากราชการตามความประสงค์ของทางราชการ

ประวีณ ณ นคร (2536 : 152) อธิบายว่า การออกจากราชการเพราะมีเหตุเกี่ยวกับสมรรถภาพหรือวินัย มีกรณีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. การให้ออกจากราชการเพราะทดลองปฏิบัติหน้าที่แล้วปรากฏว่ามีความประพฤติไม่ดี หรือไม่มีความรู้ หรือไม่มีความสามารถเหมาะสม
ข้าราชการที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ หากปรากฏว่า เป็นผู้มีความประพฤติไม่ดี หรือไม่มีความรู้ หรือไม่มีความสามารถเหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง ผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุต้องมีคำสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535
2. การให้ออกจากราชการไว้ก่อนระหว่างถูกสอบสวนพิจารณา
การให้ออกจากราชการไว้ก่อนในระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยหรือถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา ตามมาตรา 8 (5) และมาตรา 107 แห่งพระราช
บัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535
3. การให้ออกจากราชการเพราะเจ็บป่วยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ราชการได้โดยสม่ำเสมอ
ข้าราชการที่เจ็บป่วยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยสม่ำเสมอนั้น มาตรา 114 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า ผู้บังคับบัญชาอาจสั่งให้ออกจากราชการได้ ทั้งนี้ โดยให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณาว่ากรณีอย่างไรจึงจะถือว่าไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสม่ำเสมอ ซึ่งจะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นราย ๆ ไป
โดยที่พระราชกฤษฎีกาจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญและเงินอื่น ในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2522 มาตรา 26 กำหนดให้ข้าราชการลาป่วยโดยได้รับเงินเดือนได้ปีหนึ่ง 50 วัน แต่ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ตำแหน่งอธิบดีหรือเทียบเท่าขึ้นไป อาจเห็นสมควรให้ลาต่อโดยจ่ายเงินเดือนต่อไปอีกไม่เกิน 60 วัน โดยให้ปลัดกระทรวงอนุญาตการลาก็ดังนั้น ในทางปฏิบัติหากผู้ใดลาป่วยปีหนึ่งเกิน 120 วัน ผู้บังคับบัญชาก็มักจะสั่งให้ออกจากราชการตามนัยมาตรา 114 (1) แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าต้องให้ลาป่วยถึงปีละ 120 วันจึงจะให้ออกตามมาตรา 114 (1) ได้ แม้ลาป่วยเพียง 30 วัน หรือน้อยกว่านั้น ถ้าผู้บังคับบัญชาพิจารณาเห็นว่าเป็นการเจ็บป่วยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ราชการได้โดยสม่ำเสมอ ก็อาจสั่งให้ออกตามมาตรา 114 (1) ได้
4. การให้ออกจากราชการเพราะหย่อนความสามารถ ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง หรือบกพร่องในหน้าที่
ข้าราชการที่หย่อนความสามารถ ประพฤติไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือบกพร่องในหน้าที่ แม้จะยังไม่เข้ากรณีที่จะลงโทษถึงไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกฐานกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งจะลงโทษได้อย่างมากเพียงตัดเงินเดือนหรือลดขั้นเงินเดือน แต่ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่า ถ้าจะให้รับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ก็อาจให้ผู้นั้นออกจากราชการได้โดยดำเนินการตามมาตรา 115 แห่งประราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535
5.การให้ออกจากราชการเพราะมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน
ข้าราชการที่ถูกสอบสวนหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง แม้การสอบสวน จะไม่ได้ความชัดว่าการกระทำผิดที่จะลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก แต่ก็มีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่สอบสวนนั้น ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่า ให้รับราชการต่อไปอาจเสียหายแก่ราชการ จะให้ออกจากราชการก็ได้โดยดำเนินการตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535
6. การสั่งให้ออกจากราชการเพราะต้องรับโทษจำคุกในความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษตามมาตรา 117 ซึ่งมาตรา 117 บัญญัติว่า "เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดต้องรับโทษจำคุก โดยคำสั่งของศาลหรือต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษซึ่งยังไม่ถึงกับจะต้องถูกลงโทษปลดออก หรือไล่ออก ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 52 จะสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการก็ได้" การสั่งให้ข้าราชการออกจากราชการตามมาตรานี้ ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจอาจสั่งให้ข้าราชการที่กระทำผิดอาญาและถูกลงโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนได้ เมื่อการกระทำความผิดอาญาและถูกศาลลงโทษนั้นยังไม่ได้ถึงกับจะต้องถูกลงโทษทางวินัยถึงให้ออกปลดออกหรือไล่ออก
7. ถูกสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออก กรณีนี้เป็นกรณีที่ข้าราชการผู้นั้นได้กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และผลการสืบสวนหรือสอบสวน ฟังได้ว่ากระทำความผิดจริงผู้บังคับบัญชาจึงมีคำสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ

การออกจากราชการเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของงาน

เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของงานผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 44 แห่งพระ
ราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 อาจสั่งให้ข้าราชการออกจากราชการได้
ในกรณีดังต่อไปนี้
ก. ให้ออกเพราะรับราชการนาน
พระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 114 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 52 มีอำนาจสั่งให้ข้าราชการพลเรือนออกจากราชการ เพื่อรับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ และพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 14 บัญญัติว่า "บำเหน็จบำนาญเหตุรับราชการนานนั้น ให้แก่ข้าราชการ ซึ่งเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครบสามสิบปีบริบูรณ์แล้ว" ฉะนั้น เมื่อข้าราชการผู้ใดมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครบสามสิบปีบริบูรณ์แล้ว (รวมเวลาทวีคูณด้วย) ผู้บังคับบัญชาก็อาจอาศัยอำนาจตามมาตรา 114 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ประกอบด้วย มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการเหตุรับราชการนานได้
การที่จะสั่งให้ข้าราชการผู้ใดออกจากราชการเพราะเหตุรับราชการนานนั้น มีมติคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ น.ว. 143/2494 ลงวันที่19 ตุลาคม 2494 ว่า ข้าราชการผู้ใดที่ได้รับราชการมาครบ 30 ปี และมีสิทธิได้รับบำนาญตามกฎหมาย หากเป็นผู้ที่บกพร่องตามหลักเกณฑ์ข้อหนึ่งข้อใดดังระบุไว้ข้างท้ายนี้แล้ว ไม่ควรให้รับราชการอยู่ต่อไป คือ
1. มีความรู้ความสามารถไม่ดีพอกับตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งแม้เข้าขีดหย่อนความสามารถก็ดี ตัวอย่างเช่น ปฏิบัติราชการเฉื่อยชา ล่าช้า หรือปฏิบัติราชการมักผิดพลาดเป็นต้น
2. มีความรู้ความสามารถเสมอตัว ไม่ดีไม่เลว แต่หาผู้แทนที่ดีกว่าได้
3. มีอนามัยหรือสุขภาพไม่สมบูรณ์ เช่น เจ็บป่วยเนือง ๆ หรือเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง
4. เกียจคร้านหรือไม่เต็มใจปฏิบัติหน้าที่ราชการ
5. ประพฤติตนไม่สมศักดิ์ศรีแก่ตำแหน่ง เช่น ประพฤติตนเสเพลเสพเครื่องดอง
ของเมาจนไม่สามารถครองสติได้ มีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นต้น
6. ไม่สนับสนุนการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ
7. ประพฤติผิดวินัยข้าราชการข้ออื่น ๆ จนถึงถูกลงโทษสถานหนึ่งสถานใดตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการ
เมื่อข้าราชการผู้ใดมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จถึง 30 ปี แล้ว และเป็นผู้มีกรณีบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ผู้บังคับบัญชาอาจสั่งให้ออกจากราชการได้
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ไม่จำเป็นต้องพิจารณาถึงอายุของข้าราชการผู้นั้นว่าจะมากน้อยประการใด เพราะปัญหาเรื่องของอายุข้าราชการเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก
ข. ให้ออกเพราะเลิกหรือยุบตำแหน่ง
ในกรณีที่มีการเลิกหรือยุบตำแหน่ง และไม่สามารถหาตำแหน่งอื่นให้ได้ก็ต้องสั่งให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นออกจากราชการโดยให้ได้รับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนตามมาตรา 11 ของพระราชบัญญัติบำเหน็จข้าราชการ พ.ศ. 2494

การออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติงานอื่น

ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุมีอำนาจสั่งให้ข้าราชการพลเรือนออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติงานอื่นในกรณีต่อไปนี้
1. ให้ออกไปปฏิบัติงานใด ๆ ตามความประสงค์ของทางราชการ
การจะสั่งให้ข้าราชการใดออกจากราชการไปปฏิบัติงานใด ๆ ตามความประสงค์ของทางราชการตามมาตรา 114 (2) นั้น ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 52 จะสั่งให้ออกได้ก็ต่อเมื่อผู้นั้นสมัครใจไปปฏิบัติงานนั้น
การสั่งให้ออกจากราชการเพื่อปฏิบัติงานใด ๆ ตามความประสงค์ของทางราชการโดยอาศัยมาตรา 114 (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2553 นั้น เป็นอำนาจของผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 52 เป็นผู้สั่งให้ออกจากราชการ ซึ่งหากเป็นการสั่งให้ออกโดยอาศัยมาตรา 114 (2) แต่เพียงมาตราเดียวแล้ว ผู้ถูกสั่งให้ออกก็จะได้รับบำเหน็จบำนาญไปเลย (ถ้าหากมีสิทธิได้รับ) และจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษในการบรรจุกลับเข้ารับราชการตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2535 กล่าวคือ เมื่อออกจากราชการไปจะไม่ได้รับการสงวนตำแหน่งไว้ให้และเมื่อบรรจุกลับเข้ารับราชการอีกก็ต้องบรรจุกลับตามมาตรา 65
ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติงานใด ๆ ตามความประสงค์ของทางราชการ ถ้าจะให้ได้รับประโยชน์ตามมาตรา 64 คือ สงวนตำแหน่งไว้ให้บรรจุกลับเข้ารับราชการจะต้องออกจากราชการโดยยังไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ และจะต้องดำเนินการโดยอาศัยมาตรา 114 (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535ประกอบด้วยมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 และ
มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การสั่งให้ข้าราชการไปทำซึ่งให้นับเวลาระหว่างนั้นเหมือนเต็มเวลาราชการ พ.ศ. 2495 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การสั่งให้ข้าราชการไปทำการ ซึ่งให้นับเวลาระหว่างนั้นหรือเต็มเวลาราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2502 ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1.1 คณะรัฐมนตรีอนุมัติ และรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นผู้สั่ง
1.2 เป็นข้าราชการประจำในระยะเวลาห้าปีก่อนวันสั่งผู้นั้นได้รับราชการ
เป็นข้าราชการประจำตลอดมา กำหนดเวลาห้าปี ให้ลดเป็นสองปี สำหรับผู้ที่ไปทำการในองค์การสหประชาชาติหรือองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
2. การสั่งให้ออกเพื่อไปรับราชการทหาร
เมื่อข้าราชการผู้ใดไปรับราชการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 บัญญัติให้ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการ
การจะสั่งให้ผู้ไปรับราชการออกจากราชการตามมาตรา 63 นั้น เฉพาะกรณี เป็นการถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารกองประจำการตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 หมวด 4 เท่านั้น เพราะทหารกองประจำการนั้น จะต้องรับราชการในกองประจำการมีกำหนดนานถึง 2 ปี (ยกเว้นบางกรณีอาจน้อยกว่า 2 ปีได้ แต่ผู้ถูกหมายเรียกเข้ารับการระดมพลเข้าฝึกวิชาทหารหรือเข้ารับการทดลองความพรั่งพร้อมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 นั้นไม่ได้ใช้เวลานาน และมิได้ไปรับราชการทหารโดยมีฐานะเป็นข้าราชการทหาร จึงไม่มีคำสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 63 นี้ ผู้ถูกหมายเรียกดังกล่าวเพียงแต่รายงานต่อผู้บังคับบัญชาภายใน 48 ชั่วโมง แล้วไปตามหมายเรียกโดยไม่ต้องรอรับอนุญาต ทั้งนี้ ตามนัยข้อ 21 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2535

ไม่มีความคิดเห็น: