วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

การเรียนการสอนภาษาอังกฤษ

แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนการภาษาอังกฤษในปัจจุบันมีหลายแนวคิด มีทั้งแนวคิดเกี่ยวกับการจัดหลักสูตร แนวคิดเกี่ยวกับแนวการสอน และแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ แนวคิดทั้ง 3 นี้ มีส่วนช่วยครูผู้สอนในการตัดสินใจวางแผนจัดการเรียนการสอน การคัดเลือกกิจกรรมประกอบการเรียนการสอน ตลอดจนเลือกสื่อการเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับครูผู้สอนที่จะต้องศึกษาทำความเข้าใจเพื่อช่วยให้การสอนของตนเองมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แนวคิดสำคัญที่ครูควรศึกษาทำความเข้าใจมีดังต่อไปนี้ คือ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2548 ก : 101 – 128)
1. หลักสูตรภาษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Lerner – Centered Language Curriculum)
2. แนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร (Communicative Language Teaching)
3. การสอนภาษาเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Language for Specific Purposes)
4. การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ (Integrated Learning)
5. การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning)
6. การจัดการเรียนการสอนแบบภาษาที่เน้นเนื้อหา (Content-Based Instruction)
7. การสอนภาษาแบบองค์รวม (Whole Language Approach)
8. การเรียนรู้จากการทำโครงงาน (Project-Based Learning)
9. การเรียนรู้ที่เน้นภาระงาน (Task-Based Language)
10. การสร้างองค์ความรู้ (Constructivism)
11. วิธีการสอนด้วยการตอบสนองด้วยท่าทาง (Total Physical Response)
12. การเรียนการสอนภาษาอังกฤษแบบไฟร์แม็ทซิสเต็ม (4 MATS Language System)

กระบวนการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ
การที่ครูจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ กระบวนการ มีความสามารถ และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่กำหนดเป็นมาตรฐานการเรียนรู้นั้น ครูต้องมีเทคนิค วิธีการ ในการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สรุปว่า ปัญหาที่ครูผู้สอนภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ประสบในการจัดห้องเรียนมี 3 ประการ คือ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2548 ข : 1 – 3)
1. การสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนอยากเรียน อยากใช้ภาษาอังกฤษในห้อง
2. การไม่สามารถจัดบรรยากาศในห้องเรียนได้ตามที่คาดหวัง เพราะวัสดุอุปกรณ์ไม่เหมาะ ไม่เพียงพอ ผู้เรียนมีระดับความรู้ต่างกัน
3. การแสดงบทบาทของครูในการสอนห้องเรียนเพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน เพราะมีการเน้นการสอนเนื้อหามากเกินไป
เทคนิควิธีการที่สำคัญที่ครูผู้สอนภาษาอังกฤษควรรู้และนำไปใช้มีดังนี้

การสอนทักษะการฟัง (Listening)
คนมักเข้าใจว่าการฟังเกิดขึ้นเองเมื่อผู้เรียนต้องเผชิญกับภาษานั้นโดยไม่ต้องมีการเรียนการสอน แต่ความจริงแล้วการฟังเพื่อความเข้าใจในการเรียนการสอนภาษาที่สองเป็นทักษะอันดับแรกที่ต้องได้รับการฝึกฝน การสอนฟังอาจใช้การสอนแบบ Bottom up คือ สอนเป็นลำดับขั้นตอน ค่อยเรียนรู้ทีละน้อย จนเกิดความเข้าใจในที่สุด หรืออาจสอนแบบ Top down คือ การให้ผู้เรียนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้ต่อเนื่องจากพื้นฐานหรือประสบการณ์ของตน
การสอนฟังผู้สอนจะต้องฝึกให้ผู้ฟังสามารถแยกเสียงที่ได้รับฟัง รับรู้ และเข้าใจความหมายเรื่องที่ฟัง วิธีสอนที่ใช้กันทั่วไปในการสอนฟังมีกิจกรรม 3 ขั้นตอน คือ กิจกรรมก่อนฟัง กิจกรรมขณะฟัง และกิจกรรมหลังฟัง (สำนักงานคณะกรรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2548 ข : 12 – 13)


การสอนออกเสียง (Pronunciation)
ครูผู้สอนภาษาอังกฤษส่วนใหญ่จะสอนคำศัพท์ (Vocabulary) ไวยากรณ์ (Grammy) และฝึกผู้เรียนเรื่องการสนทนา ให้ทำกิจกรรมฝึกต่าง ๆ เพื่อให้มีความสามารถในการฟังและอ่านได้ แต่จะสอนเรื่องการออกเสียงอย่างจริงจังน้อย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะรู้สึกอึดอัดที่จะสอนเรื่องการออกเสียง หรืออาจรู้สึกว่าการสอนออกเสียงเป็นการสร้างปัญหาระหว่างการเรียนการสอน จึงมักปล่อยให้นักเรียนฝึกออกเสียงกันเอง ในขณะที่เรียนเรื่องอื่น ๆ แต่แท้จริงแล้วการเน้นสอนออกเสียงไม่เพียงแต่ทำให้ผู้เรียนตระหนักในเรื่องความแตกต่างของเสียง ลักษณะของเสียง และความหมายของเสียงเท่านั้น แต่ยังสามารถพัฒนาทักษะการพูดได้อย่างมาก การให้ความสนใจในเรื่องเสียงที่เปล่งออกมาจากส่วนต่าง ๆ ภายในปาก ทำให้ผู้เรียนรู้ว่าควรลงเสียงหนักเบาในตำแหน่งใดของคำ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจภาษาพูด (Spoken – English) และพัฒนาทักษะความสามารถทางภาษาได้ (สำนักงานคณะกรรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2548 ข : 14)
การสอนออกเสียงมักพบปัญหาที่ครูผู้สอนต้องแก้ไข 3 เรื่อง (สำนักงานคณะกรรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2548 ข : 15 – 16)
1. สิ่งที่ผู้เรียนได้ยิน เพราะผู้เรียนบางคนไม่สามารถแยกความแตกต่างของเสียง ซึ่งอาจเป็นเพราะเสียงนั้นไม่มีในภาษาเดิมของเขา ทำให้ฟังเสียงที่แตกต่างเป็นเสียงเดียวกัน ผู้สอนต้องพยายามให้เขารับรู้ความแตกต่างของเสียง ซึ่งอาจทำโดยการแสดงแผนภาพ แผนภูมิ การสาธิตและการอธิบาย เพื่อฝึกหูของผู้ฟังทีละน้อย จนกระทั่งเขาสามารถแยกเสียงที่แตกต่างกันได้
2. การออกเสียงสูง – ต่ำ ผู้สอนต้องให้ผู้เรียนรู้จักการจำแนกอารมณ์ (Moods) และความตั้งใจ (Intention) โดยใช้แถบเสียง (Tape) หรือพูดให้ฟัง เพื่อให้ผู้เรียนสังเกตว่าคนพูดภาษาอังกฤษกันอย่างไรในอารมณ์ ความรู้สึก และสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
3. ตัวอักษรแทนเสียง (The Phonetics Alphabet) ผู้เรียนภาษาอังกฤษจำนวนมากมีปัญหาในการออกเสียงตัวสะกด จึงจำเป็นต้องรู้จักหน่วยเสียงที่แตกต่างกัน ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการส่งเสริมการรับรู้เหล่านี้คือ การนำเสนอด้วยสัญลักษณ์ (Phonetics Symbol) ซึ่งเมื่อผู้เรียนสามารถอ่านสัญลักษณ์ได้ก็จะสามารถรับรู้ว่าคำถามเหล่านั้นออกเสียงอย่างไร การสอนออกเสียงอาจทำได้หลายลักษณะ เช่น
Whole Lessons คือ การที่ครูสอนเน้นเรื่อง Stress และ Intonation ขณะดำเนินกิจกรรมตามแผนการจัดการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนฝึกจำรูปแบบการออกเสียงสูง – ต่ำ ออกเสียงวลีที่จำเป็น แล้วพัฒนาต่อไปจนสามารถแสดงละครสั้น ๆ ได้
Discrete Slots คือ การแทรกกิจกรรมการออกเสียงสั้น ๆ ไม่ต่อเนื่องกันลงในบทเรียน ทั้งในรูปแบบฝึกเสียงเดี่ยว และฝึกเสียงคู่ที่แตกต่างกัน ในช่วงสั้น ๆ ขณะสอนภาษาอังกฤษ
Integrated Phases คือ การที่กำหนดให้การออกเสียงเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียน โดยให้ฟังเทปแล้วฝึกออกเสียงตามให้ถูกต้อง
Opportunistic Phases เป็นการสอนออกเสียงคำบางคำที่น่าสนใจขณะสอนไวยากรณ์ หรือคำศัพท์ โดยไม่ต้องใช้เวลามาก

การสอนไวยากรณ์ (Grammar)
ไวยากรณ์ (Grammar) เป็นกระบวนการทางภาษาที่จะควบคุม และรวบรวมคำเพื่อก่อให้เกิดหน่วยของความหมายที่ยาวขึ้น ไวยากรณ์จึงเป็นตัวกำหนดเกณฑ์พื้นฐานของกิจกรรมในห้องเรียนที่มีจุดประสงค์ของการเรียนรู้ชั่วคราว เพื่อให้มองเห็นผลได้ในระยะยาว เพราะการใช้ภาษาได้อย่างคล่องแคล่วควรเกิดขึ้นเมื่อบุคคลได้เรียนรู้ด้วยวิธีการหลากหลายในระยะยาว (สำนักงานคณะกรรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2548 ข : 19 – 20)
การสอนไวยากรณ์ผู้สอนต้องนำเทคนิคการสอนที่หลากหลายมาใช้ในขั้นตอนสำคัญ 4 ขั้นตอน คือ
1. การนำเสนอ (Presentation) เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจรูปแบบและความหมายทั้งในภาษาพูดและภาษาเขียน
2. การสอนเป็นตอน ๆ และการอธิบาย (Isolation and Explanation) เป็นการเน้นเรื่องส่วนประกอบของไวยากรณ์ ทั้งด้านการออกเสียง รูปแบบ ความหมาย และหน้าที่ หรือกฎเกณฑ์ ในบางชั้นเรียนครูอาจจำเป็นต้องอธิบาย แปล หรือทำให้เห็นภาพรวมโดยใช้ภาษาแม่ของผู้เรียน
3. การฝึกฝน (Practice) เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจโครงสร้างภาษาได้อย่างลึกซึ้ง ครูควรจัดให้มีแบบฝึกหัดทั้งที่ให้ทำในชั้นเรียน และที่ให้ทำเป็นการบ้าน ให้มีความหลากหลายครอบคลุมเนื้อหาที่เรียน
4. การทดสอบ (Test) เป็นการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับในสิ่งที่เรียนไปแล้ว เพื่อทราบว่าผู้เรียนพัฒนาไปมากน้อยเพียงใด ครูควรปรับปรุงการสอนอย่างไรต่อไป

การสอนเกมทางภาษา (Language games)
เกมทางภาษา หมายถึง กิจกรรมทางภาษาที่จัดขึ้นเพื่อทดสอบ และเสริมสมรรถภาพในการเรียนภาษา โดยเน้นหนักในการผ่อนคลาย เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน และเกิดการเรียนรู้ทั้งในรายบุคคลและสมาชิกในกลุ่ม ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เรื่องศักดิ์ อำไพพันธ์ (2535 : 1 – 12) กล่าวถึงประโยชน์ และประเภทของเกมทางภาษาว่า เกมทางภาษามีประโยชน์ในการเรียนการสอนมาก เพราะ
1. ทำให้เนื้อหากระจ่าง ง่ายต่อการเข้าใจ
2. ช่วยเสริมสมรรถภาพในการสอนของครู
3. ใช้ทดสอบความรู้ความเข้าใจเนื้อหา
4. ช่วยเร้าให้ผู้เรียนสนใจบทเรียน
5. ช่วยให้ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วม คนเก่งได้ช่วยเหลือคนอ่อน
6. ปรับใช้ได้กับทุกเพศ ทุกวัย
7. ใช้ได้ทั้งรายบุคคล เป็นกลุ่ม หรือทั้งชั้นเรียน
8. ทำให้ผู้เรียนเกิดความสนุกสนาน กล้าแสดงออก อยากร่วมกิจกรม
9. ช่วยเสริมทักษะทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน และสามารถใช้ในทุกลำดับขั้นของการสอน
10. ใช้ได้หลายสถานการณ์ ทั้งในห้องเรียน กิจกรรมชมรม งานสร้างสรรค์ การทัศนาจร
เกมทางภาษาแบ่งได้เป็น
1. Number Games เกมที่เสริมความรู้ ฝึกความจำ ตลอดจนปฏิภาณและความเร็วในการคิดเกี่ยวกับตัวเลข
2. Vocabulary Games เกมที่ใช้ทดสอบความจำและความรู้เดิมด้านภาษา ทั้งการออกเสียง การสะกดคำ ความหมาย และ part of speech
3. Structure Games เกมที่ฝึกเกี่ยวกับเนื้อหาและโครงสร้างของภาษา
4. Spelling Games เกมที่ช่วยเสริมความสามารถในการจำคำศัพท์และเขียนคำศัพท์ได้ถูกต้อง
5. Conversation Games เกมที่ช่วยสรุปเนื้อหาระหว่างผู้พูดและผู้ฟังให้สามารถเก็บใจความและสื่อความหมาย
6. Writing Games เกมที่ช่วยเสริมทักษะในการเขียนMiscellaneous Games เกมที่แยกออกมาเป็นกลุ่มพิเศษ ผู้สอนสามารถประยุกต์ใช้เป็นกิจกรรมพิเศษนอกห้องเรียน เช่น การแสดงบทบาทสมมติ การเล่นละคร การโต้วาที กิจกรรมในงานสังสรรค์ เป็นต้น

3 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ขอบคุณมากค่ะเมื่อได้อ่านบทความแล้วดิฉันได้รับความรู้เพิ่มมากขึ้น สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดีค่ะ...Thank you very much.

Unknown กล่าวว่า...

ขอบคุณมากค่ะเมื่อได้อ่านบทความแล้วดิฉันได้รับความรู้เพิ่มมากขึ้น สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดีค่ะ...Thank you very much.

Unknown กล่าวว่า...

ต้องขอบพระคุณมากๆคะ กับความรู้มากมายที่สามารถนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนคะ