การวัดและประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ได้ระบุไว้ว่า สถานศึกษาในฐานะผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาจะต้องจัดทำหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการวัดและประเมินผลการเรียนของสถานศึกษา เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถือปฏิบัติร่วมกันและเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน สถานศึกษาต้องมีผลการเรียนรู้ของผู้เรียนจากการวัดและประเมินทั้งในระดับชั้นเรียน ระดับสถานศึกษา ระดับเขตการศึกษา และระดับชาติ ตลอดจนการประเมินภายนอก เพื่อใช้เป็นข้อมูลสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับคุณภาพของผู้เรียนให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและนอกสถานศึกษา (กรมวิชาการ,2544: 24)
ลักษณะของการวัดและประเมินผล
การประเมินผลการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ควรมีลักษณะดังนี้
1. ต้องระบุสิ่งที่มุ่งประเมินให้ชัดเจน ผู้ประเมินต้องทราบว่าผลการเรียนรู้ที่ต้องการประเมิน ประกอบด้วยคุณลักษณะ (Traits) ที่สำคัญอะไรบ้าง เพื่อที่จะเลือกใช้เครื่องมือและวิธีการที่เหมาะสม
2. เลือกเทคนิคการวัดให้เหมาะสม ผู้ประเมินต้องเลือกเครื่องมือ รูปแบบคำถามที่ใช้ให้สอดคล้องกับคุณลักษณะ หรือสมรรถภาพของผู้เรียน โดยเครื่องมือนั้นต้องให้ผลที่ถูกต้อง มีความเป็นปรนัยและสะดวกต่อการนำไปใช้
3. ควรใช้วิธีการวัดหลายอย่างประกอบกัน เนื่องจากเครื่องมือแต่ละชนิดมีข้อดี/ข้อเสียที่แตกต่างกัน ผู้ประเมินจึงควรเลือกใช้วิธีการวัดหลายอย่างให้ครอบคลุมผลสัมฤทธิ์และพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของผู้เรียน และต้องทำการวัดหลาย ๆ ครั้ง
4. ควบคุมความคลาดเคลื่อนจากการวัดให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด การวัดคุณลักษณะใดก็ตามจะมีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้เสมอ ผู้ประเมินควรศึกษาถึงแหล่งของความคลาดเคลื่อนและพยายามขจัดให้เหลือน้อยที่สุด
5. ใช้สารสนเทศจากการประเมินสำหรับการตัดสินใจ การประเมินเป็นกระบวนการของการปรับปรุงและพัฒนาสู่สิ่งที่ดีขึ้น การประเมินมิได้สิ้นสุดเมื่อทราบผลการประเมิน แต่การประเมินมีความสำคัญอยู่ที่การนำผลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการตัดสินใจที่ดีในการจัดการศึกษา และพัฒนาประสิทธิภาพของการเรียนการสอน
ประเภทของการวัดและประเมินการเรียนรู้
การวัดและประเมินเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอน กิจกรรมการวัดและการประเมิน ทำให้ผู้สอนได้สารสนเทศที่เป็นปรนัยและเป็นพื้นฐานสำหรับการตัดสินใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้เรียน ตลอดจนประโยชน์ต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพของการเรียนการสอน
การวัดและการประเมินในกระบวนการเรียนการสอนสามารถแบ่งเป็นประเภทตามขั้นตอนหรือช่วงเวลาของการดำเนินการเรียนการสอนได้ดังนี้
1. การวัดและประเมินก่อนเริ่มต้นการเรียนการสอน
2. การวัดและประเมินระหว่างการเรียนการสอน
3. การวัดและประเมินหลังสิ้นสุดการเรียนการสอน
การวัดและประเมินระหว่างการเรียนการสอน
การวัดและประเมินระหว่างการเรียนการสอนเป็นกิจกรรมที่กระทำเพื่อตรวจสอบความรู้ความสามารถของผู้เรียนขณะที่การเรียนการสอนยังคงดำเนินอยู่ การวัดและประเมินผลประเภทนี้สามารถจำแนกออกเป็นการวัดและประเมินความก้าวหน้ากับการวัดและประเมินปัญหาอุปสรรคของการเรียนรู้
1. การวัดและประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้ (Formative Evaluation) เป็นการวัดและประเมินระหว่างการเรียนการสอนเพื่อตรวจสอบว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถหรือทักษะตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในแต่ละหน่วยการสอนหรือไม่ เครื่องมือที่ใช้วัดอาจเป็นแบบสอบประจำหน่วย แบบสอบย่อย การสังเกต การสัมภาษณ์ เป็นต้น สารสนเทศที่ได้จากการวัดและประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้นี้จะช่วยบ่งชี้พัฒนาการ ความก้าวหน้าในการเรียนรู้นี้จะช่วยบ่งชี้พัฒนาการ ความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน เพื่อทำการปรับปรุงการเรียน และเป็นข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับประสิทธิภาพการสอน เพื่อทำการปรับปรุงการสอน ตลอดจนใช้ในการตัดสินใจว่าผู้เรียนคนใดสามารถผ่านหรือไม่ผ่านจุดประสงค์ประจำหน่วย ถ้าทุกคนผ่านจะได้ทำการสอนหน่วยต่อไป แต่ถ้าบางคนไม่ผ่านจะได้ทำการสอนซ่อมเสริมเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องให้มีการเรียนรู้ที่เติมเต็มที่ขาดหายไปทันทีหลังการสอน
2. การวัดและประเมินปัญหาอุปสรรคในการเรียนรู้ (Diagnostic Evaluation) หลังจากจัดกิจกรรมเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องของการเรียนรู้ระหว่างที่การเรียนการสอนยังคงดำเนินอยู่แล้วถ้าหากจุดบกพร่องหรือความล้มเหลวของการเรียนรู้ยังคงมีอยู่ ซึ่งการสอนซ่อมเสริมไม่สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น ก็ควรมีการศึกษาถึงอุปสรรคปัญหานั้นอย่างลึกซึ้ง โดยใช้แบบสอบวินิจฉัย (Diagnostic Test) แบบสอบชนิดนี้จะสร้างตามลำดับขั้นของตรรกศาสตร์ สำหรับการคิดที่ถูกต้องในการแก้ปัญหานั้นแล้วให้ผู้เรียนทำเพื่อสืบค้นถึงสาเหตุของปัญหา เพราะในเรื่องนั้นปัญหาอาจมีแหล่งที่เกิดแตกต่างกัน เช่น ปัญหาเกี่ยวกับผู้เรียนสิ่งแวดล้อม เนื้อหาวิชา ผู้สอน เป็นต้น โดยอาจมีการใช้เทคนิคการสังเกตและสัมภาษณ์ประกอบการสืบค้นปัญหา สารสนเทศที่ได้จากการวัดและประเมินปัญหาอุปสรรคในการเรียนรู้จะทำให้ทราบถึงสาเหตุแห่งปัญหาอุปสรรคของการเรียนรู้นั้น ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สอนสามารถทำการปรับปรุงแก้ไขได้ตรงจุด เช่น การปรับปรุงยุทธวิธีการสอน การหามาตรการสอนเสริม การจัดเรียบลำดับขั้นของเนื้อหาและวิธีการสอนทีเหมาะสม เป็นต้น
การประเมินระหว่างเรียนเป็นการประเมินเพื่อมุ่งตรวจสอบพัฒนาการของผู้เรียนว่าบรรลุตามผลการเรียนรู้ผู้คาดหวังในการสอนตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่ครูได้วางแผนไว้หรือไม่ ทั้งนี้สารสนเทศที่ได้จากการประเมินไปสู่การปรับปรุงแก้ไข ข้อบกพร่องของผู้เรียน และส่งเสริมผู้เรียนที่มีความรู้ ความสามารถให้เกิดพัฒนาการสูงสุดตามศักยภาพ การประเมินผลระหว่างเรียนมีแนวทางในการปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้
1. วางแผนการเรียนรู้และการประเมินผลระหว่างเรียน ผู้สอนจัดทำแผนการเรียนรู้และแนวทางการประเมินผลให้สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ซึ่งในแผนการเรียนรู้ควรระบุภาระงานที่จะทำให้ผู้เรียนบรรลุตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
2. เลือกวิธีการประเมินที่สอดคล้องกับภาระงานหรือกิจกรรมหลักที่กำหนดให้ผู้เรียนปฏิบัติ ทั้งนี้วิธีการประเมินที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการประเมินระหว่างเรียน ได้แก่ การประเมินจากสิ่งที่ผู้เรียนได้แสดงให้เห็นว่ามีความรู้ ทักษะและความสามารถ ตลอดจนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์อันเป็นผลจากการเรียนรู้ ตามที่ผู้สอนได้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้ วิธีการประเมินที่ผู้สอนสามารถเลือกใช้ในการประเมินระหว่างเรียน มีดังนี้
2.1 การประเมินด้วยการสื่อสารส่วนบุคคล ได้แก่
2.1.1 การถามตอบระหว่างทำกิจกรรมการเรียน
2.1.2 การสนทนาพบปะพูดคุยกับผู้เรียน
2.1.3 การสนทนาพบปะพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องกับผู้เรียน
2.1.4 การสอบปากเปล่าเพื่อประเมินความรู้ ความเข้าใจ และเจตคติ
2.1.5 การอ่านบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ของผู้เรียน
2.1.6 การตรวจแบบฝึกหัดและการบ้าน พร้อมให้ข้อมูลป้อนกลับ
2.2 การประเมินจากการปฏิบัติ
เป็นวิธีการประเมินที่ผู้สอนมอบหมายงานหรือกิจกรรมให้ผู้เรียนปฏิบัติเพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด การประเมินการปฏิบัติผู้สอนต้องเตรียมการในสิ่งสำคัญ 2 ประการ คือ 1) ภาระงานหรือกิจกรรมที่จะให้ผู้เรียนปฏิบัติ (Tasks) 2) เกณฑ์การให้คะแนน (Rubrics) วิธีการประเมินการปฏิบัติจะเป็นไปตามลักษณะงาน ดังนี้
2.2.1 ภาระงานหรือกิจกรรมที่ผู้สอนกำหนดให้ผู้เรียนทำเป็นรายบุคคล/กลุ่ม จะประเมินวิธีการทำงานตามขั้นตอนและผลงานของผู้เรียน
2.2.2 ภาระงานหรือกิจกรรมที่ผู้เรียนปฏิบัติเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จะประเมินด้วยวิธีการสังเกต จดบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับผู้เรียน
2.2.3 การสาธิต ได้แก่ การให้ผู้เรียนแสดงหรือปฏิบัติกิจกรรมตามที่กำหนด เช่น การใช้เครื่องมือปฏิบัติงาน การทำกายบริหาร การเล่นดนตรี จะประเมินวิธีการและขั้นตอนในการสาธิตของผู้เรียนด้วยวิธีการสังเกต
2.2.4 การทำโครงงาน การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดให้ผู้สอนต้องมอบหมายให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติโครงงานอย่างน้อย 1 โครงงาน ในทุกช่วงชั้น ดังนั้น ผู้สอนจึงต้องกำหนดภาระงานในลักษณะของโครงงานให้ผู้เรียนปฏิบัติในรูปแบบใด รูปแบบหนึ่งใน 4 รูปแบบ ต่อไปนี้ โครงงานสำรวจ โครงงานสิ่งประดิษฐ์ โครงงานแก้ปัญหาหรือการทดลองศึกษาค้นคว้า และโครงงานอาชีพ วิธีการประเมินผลโครงงาน ควรประเมิน 3 ระยะ คือ
2.2.4.1 ระยะก่อนทำโครงงาน โดยประเมินความพร้อมการเตรียมการและความเป็นไปได้ในการปฏิบัติงาน
2.2.4.2 ระยะทำโครงงาน โดยประเมินการปฏิบัติจริงตามแผนวิธีการและขั้นตอนกำหนดไว้ และการปรับปรุงงานระหว่างปฏิบัติ
2.2.4.3 ระยะสิ้นสุดการทำโครงงาน โดยประเมินผลงานและวิธีการนำเสนอผลการดำเนินโครงงาน
2.2.4.4 การกำหนดให้ผู้เรียนทำโครงงาน สามารถทำได้ 3 แบบ คือ
1) โครงงานรายบุคคล เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกปฏิบัติงานตามความสามารถ ความถนัด และความสนใจ
2) โครงงานกลุ่ม เป็นการทำโครงงานขนาดใหญ่และซับซ้อน ต้องให้ผู้เรียนที่มีความสามารถต่างกันหลายด้านช่วยกันทำ การประเมินโครงงานควรเน้นการประเมินกระบวนการกลุ่ม
3) โครงงานผสมระหว่างรายบุคคลกับกลุ่ม เป็นโครงงานที่ผู้เรียนทำร่วมกันแต่เมื่อเสร็จงานแล้ว ให้แต่ละคนรายงานผลด้วยตนเอง โดยไม่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากสมาชิกในกลุ่ม
การประเมินการปฏิบัติงานดังกล่าวมาข้างต้น ผู้สอนจำเป็นต้องสร้างเครื่องมือเพื่อใช้ประกอบการปฏิบัติ เช่น
1. แบบวัดภาคปฏิบัติ
2. แบบสังเกตพฤติกรรม
3. แบบตรวจสอบรายการ
4. เกณฑ์การให้คะแนน เป็นต้น
2.3 การประเมินสภาพจริง
การประเมินสภาพจริงเป็นการประเมินจากการปฏิบัติงานหรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยงานหรือกิจกรรมที่มอบหมายให้ผู้เรียนปฏิบัติ จะเป็นงานหรือสถานการณ์ที่เป็นจริงหรือใกล้เคียงกับชีวิตจริง จึงเป็นงานที่มีสถานการณ์ซับซ้อน และเป็นองค์รวมมากกว่างานปฏิบัติในกิจกรรมการเรียนทั่วไป
วิธีการประเมินสภาพจริงไม่มีความแตกต่าง จากการประเมินจากการปฏิบัติเพียงแต่อาจมีความยุ่งยากในการประเมินมากกว่า เนื่องจากเป็นสถานการณ์จริง หรือต้องจัดสถานการณ์ให้ใกล้จริง แต่จะเกิดประโยชน์กับผู้เรียนมาก เพราะจะทำให้ทราบความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียน ว่ามีจุดเด่นและข้อบกพร่องในเรื่องใด อันจะนำไปสู่การแก้ไขที่ตรงประเด็นที่สุด
2.4 การประเมินด้วยแฟ้มสะสมงาน
การประเมินด้วยแฟ้มสะสมงาน เป็นวิธีการประเมินที่ช่วยส่งเสริมให้การประเมินตามสภาพจริง มีความสมบูรณ์สะท้อนศักยภาพที่แท้จริงของผู้เรียนมากขึ้น โดยการให้ ผู้เรียนได้เก็บรวบรวมผลงานจากการปฏิบัติจริง ทั้งในชั้นเรียนหรือในชีวิตจริงที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ตามสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ มาจัดแสดงอย่างเป็นระบบโดยมีจุดประสงค์เพื่อสะท้อนให้เห็น ความพยายาม เจตคติ แรงจูงใจ พัฒนาการ และสัมฤทธิ์ผลของการเรียนรู้ของผู้เรียน การวางแผนดำเนินการประเมินด้วยแฟ้มผลงานที่สมบูรณ์ จะช่วยผู้สอนให้สามารถประเมินจากแฟ้มสะสมงานแทนการประเมินจากการปฏิบัติจริงได้
1 ความคิดเห็น:
As stated by Stanford Medical, It's indeed the SINGLE reason this country's women get to live 10 years more and weigh 19 kilos less than us.
(And by the way, it is not about genetics or some secret exercise and absolutely EVERYTHING to "how" they eat.)
P.S, What I said is "HOW", and not "what"...
Tap this link to discover if this easy questionnaire can help you decipher your true weight loss potential
แสดงความคิดเห็น