วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

การจัดค่ายภาษาอังกฤษสำหรับครู

กรมสามัญศึกษา (มปป. : 1 – 6) ได้กำหนดแนวทางให้ศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษา อังกฤษ (ERIC) ทั่วประเทศ จัดค่ายภาษาอังกฤษสำหรับครู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาครูผู้สอนภาษาอังกฤษให้มีทักษะการฟังและการพูด ให้ครูสามารถใช้ภาษาอังกฤษในชั้นเรียน ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและกิจกรรมเสริมต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว และเพื่อให้ครูสอนภาษา อังกฤษสามารถเลือกใช้กิจกรรม เพื่อฝึกทักษะการฟัง การพูด ของนักเรียนได้อย่างหลากหลาย โดยกำหนดให้ผู้เข้าค่ายทุกคนพักค้างคืน ณ สถานที่สำหรับการจัดค่ายตลอดหลักสูตร ใช้เวลาเข้าค่าย 7 – 10 วัน มีกิจกรรมรวม 80 ชั่วโมง เนื้อหาสาระ (Contents) ประกอบด้วย ภาษาอังกฤษในชั้นเรียน (Classroom Language) ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน (English for Everyday Use) และเนื้อหาเสริม (Additional Content) เพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น หรือความต้องการของครูที่เข้าค่าย

การดำเนินการจัดค่ายภาษาอังกฤษ มีขั้นตอนที่สำคัญ 4 ขั้นตอน คือ
1. ขั้นเตรียมการ เลขานุการศูนย์ ERIC / หัวหน้าวิทยากร ควรจัดประชุมวงแผนกับคณะวิทยากร จัดเตรียมสถานที่ให้มีบรรยากาศที่ส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษ จัดเตรียมสถานที่เพื่อจัดแสดงผลงาน เตรียมที่พัก อาหาร สถานที่จัดกิจกรรม วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น แฟ้มเอกสารของแต่ละกิจกรรม เตรียมรวบรวมผลสรุปของการจัดกิจกรรมและผลงานของครู สำหรับการประเมินผลและการนิเทศติดตาม เตรียมเอกสาร วุฒิบัตร ฟอร์มต่าง ๆ เช่น แบบกรอกข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมิน และเอกสารอื่นตามความจำเป็น
2. ขั้นดำเนินการ จัดให้มีการลงทะเบียนและเวลามาปฏิบัติราชการเป็นประจำตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย มีผู้อำนวยการจัดค่ายเป็นผู้รับผิดชอบ และดูแลความเรียบร้อยโดยภาพรวม กำหนดให้มีวิทยากรที่ปรึกษาประจำทุกวัน โดยผลัดเปลี่ยนกันในกลุ่มวิทยากร จัดกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมเพื่อรับผิดชอบในการดำเนินรายการ / พิธีกร ดูแลความเรียบร้อย ช่วยเหลือสนับสนุนวิทยากรในแต่ละวัน โดยมีวิทยากรที่ปรึกษาประจำกลุ่มคอยให้คำปรึกษา ปฏิบัติกิจกรรมตามตารางที่กำหนดไว้ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมด้วยความเห็นชอบของคณะวิทยากร จัดกิจกรรม Camp โดยเน้นความสนุกสนาน การมีส่วนร่วม กล้าแสดงออก และรวมถึงการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อสร้างความประทับใจ และมีประโยชน์ในการปรับใช้กิจกรรมให้ผู้เข้าค่ายทุกคนทำแผนปฏิบัติ (Action plan) เพื่อวางแผนการนำความรู้ที่ได้ไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและปฏิบัติงาน รวมทั้งการขยายผลให้ครูคนอื่น
3. ขั้นประเมินผล ควรมีการประเมินผลก่อนการดำเนินการจัดค่าย เพื่อให้ได้ข้อมูลในภาพรวมของความสามารถทางภาษา และความต้องการจำเป็นของผู้เข้าค่าย ประเมินผลระหว่างการดำเนินการจัดค่าย เพื่อนำไปปรับการดำเนินการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และประเมินผลในตอนท้ายของการดำเนินการจัดค่าย เพื่อประมวลข้อมูลสำหรับการพัฒนาและปรับปรุงต่อไป
4. ขั้นสรุปรายงานผลการจัดค่าย ให้รวบรวมข้อมูลที่ได้จากการนิเทศ ติดตามผลการดำเนินการจัดค่าย และการประเมินผล ทำสรุปรายงานเสนอต้นสังกัดเพื่อทราบ

การสอนแบบฐาน
วิธีการสอนแบบฐานนี้เป็นวิธีการสอนที่นิยมใช้และใช้มากในการจัดการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ ขั้นความรู้เบื้องต้นและขั้นความรู้ชั้นสูง ผู้สอน(วิทยากร) ต้องมีความเข้าใจในจุดหมายของวิธีการสอนแบบนี้เป็นอย่างดี คือ วิธีการสอนแบบฐานนี้จะช่วยให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเกิดทักษะและให้ความรู้เป็นสำคัญ มากกว่าการเปลี่ยนทัศนคติ(สำนักงานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ, 2537:57)
ผู้สอนต้องพิจารณาในเนื้อหาวิชาว่าเหมาะสมกับการใช้วิธีสอนแบบนี้หรือไม่เพราะการสอนแบบนี้จะต้องใช้บุคลากรเพิ่มขึ้น เนื้อหาวิชาต้องแบ่งออกเป็นแขนงย่อย ๆ ได้ และอาจต้องใช้วิธีสอนแบบอื่นเข้าร่วมด้วย
วิธีการ
1. จัดแบ่งหัวข้อวิชาและผู้รับผิดชอบ
2. จัดฐานและอุปกรณ์ประกอบฐานให้พร้อมและมีคุณภาพดีลักษณะฐานควรอยู่ห่างกันพอควร ไม่รบกวนซึ่งกันและกัน
3. แบ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เท่า ๆ กัน จัดหมุนเวียนให้เป็นระบบเพื่อให้ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับความรู้ได้ทุก ๆ ฐาน และเท่าเทียมกัน
4. อาจจัดให้มีการวัดผลการฝึกอบรมภายในฐานการฝึกอบรม โดยวิทยากรประจำฐานเป็นผู้ดำเนินการหรือกระทำรวมเป็นกลุ่มใหญ่โดยวิทยากรผู้บรรยายก็ได้
ข้อดีและข้อจำกัด
1. การแบ่งกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมเป้นกลุ่มเล็ก ๆ ทำให้เกิดประสบการณ์โดยตรงและแจ่มชัดจากวิทยากรอย่างใกล้ชิดขึ้น
2. ข้อปัญหาและการอภิปรายจะได้บังเกิดดีกว่ากลุ่มใหญ่
3. ภาระการสอนจะกระจายไปยังคณะวิทยากรอย่างกว้างขวาง
4. คณะวิทยากรประจำฐานได้รับมอบหมายงานอย่างจำกัด ทำให้สามารถจัดและกระทำงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นกับบุคคลที่มีจำนวนน้อยลงเช่นกัน
5. คณะวิทยากรและผู้เข้ารับการอบรมมีโอกาสที่จะได้ศึกษาซึ่งกันและกันและเป็นรายบุคคล
6. เนื้อหาวิชาอาจไม่เหมาะสมกับการใช้วิธีสอนแบบนี้ วิทยากรประจำฐานจะต้องเตรียมงานเป้นอย่างดี
ข้อควรคำนึง
1. ต้องจัดฐานให้เสร็จสมบูรณ์ มีความพร้อม และชัดเจนก่อนการฝึกอบรม
2. วิทยากรประจำฐานจะต้องเป็นบุคลากรที่มีความชำนาญในแต่ละด้านในงานของฐานอย่างแท้จริง
3. อุปกรณ์การฝึกอบรมในแต่ละฐานจะต้องมีให้ครบสมบูรณ์และมีคุณภาพด้วย
4. การดำเนินการสอนของวิทยากรในแต่ละฐานการฝึกอบรม จะต้องดำเนินการฝึกอบรม ด้วยวิธีการสอนที่ดี ต้องง่ายอย่างมีเหตุมีผล ปฏิบัติและวัดผลได้
5. ควรใช้เวลาในการฝึกอบรมในแต่ละฐานอย่างเหมาะสมและเท่า ๆ กันแนวการสอนแบบฐานนี้อาจนำไปใช้กับผู้เข้ารับการอบรมจำนวนมาก ๆ ก็ได้เช่นกัน และวิธีการจัดการฝึกอบรมอีกวิธีหนึ่งก็อาจทำได้เช่นกัน คือ นำบุคคลกลุ่มใหญ่เริ่มต้นเรียนที่ฐานหนึ่งแล้วดำเนินต่อไปเป็นฐาน 2 -3 จนครบทุกฐานแล้วนำมารวมและซักถามปัญหาในขั้นสรุปและประเมินผล ได้ และถ้าเห็นควรจะให้มีการปฏิบัติกิจกรรมยามว่างก็กระทำได้เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น: