วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

การสร้างแบบฝึก

จิตวิทยาการเรียนรู้กับแบบฝึก
การสร้างแบบฝึกจำเป็นต้องใช้หลักจิตวิทยาเพื่อให้ได้แบบฝึกที่สมบูรณ์และเหมาะสมกับนักเรียน หลักจิตวิทยาการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแบบฝึกมีหลายประการ ดังที่ กรรณิการ์ พวงเกษมได้แนะนำหลักจิตวิทยาที่ควรนำมาสร้างแบบฝึกไว้ในเรื่อง ปัญหาและกลวิธีการสอนภาษาไทยในโรงเรียนประถมศึกษาดังนี้
1) ความแตกต่างระหว่างบุคคล ครูต้องสังเกตความแตกต่างระหว่างบุคคลเพราะแต่ละบุคคลมีความถนัดแตกต่างกัน การฝึกทักษะควรมีหลายรูปแบบไม่ยากหรือง่ายเกินไป
2) การเรียนรู้โดยการฝึกฝนของธอร์นไดค์ (Thorn dike) การกระทำซ้ำ ๆ จะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น วิชาภาษาไทยเป็นวิชาทักษะ การฝึกบ่อย ๆ ความชำนาญจะเกิดขึ้น เขียนคำผิดน้อยลง
3) กฎแห่งการนำไปใช้ การเรียนรู้จะเกิดผลดีเมื่อนำความรู้นั้นไปใช้ วิชาภาษาไทยเป็นวิชาทักษะ ในการจัดการเรียนการสอนควรฝึกบ่อย ๆ นักเรียนจะเกิดความคล่องแคล่วหรือเกิดทักษะ
ลักษณะของแบบฝึก
1) ความสำคัญของแบบฝึก
การเขียนสะกดคำเป็นวิชาทักษะ จำเป็นต้องมีการฝึกฝนและทำกิจกรรมเพื่อฝึกฝนความรู้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องจัดทำแบบฝึกให้แก่นักเรียนเพื่อให้ได้รับการฝึกฝนอย่างเต็มที่และเปการส่งเสริมความสามารถในการเขียนให้ดียิ่งขึ้น การสร้างแบบฝึกครูควรคำนึงถึงประสิทธิภาพในการใช้ เพื่อให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จตามความต้องการ เชาวนี เกิดเพทางค์ (2524 : 17) ได้สรุปคุณประโยชน์ของแบบฝึกไว้ว่า แบบฝึกเป็นเครื่องมือช่วยให้เกิดการเรียนรู้ทำให้นักเรียนเกิดความสนใจและช่วยให้ครูทราบผลการเรียนของนักเรียนอย่างใกล้ชิด และวีระ ไทยพานิชย์ (2528 : 11) ได้กล่าวถึงความสำคัญของแบบฝึกพอสรุปได้ว่าแบบฝึกเป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการกระทำจริง เป็นประสบการณ์ตรงที่ผู้เรียนมีจุดมุ่งหมายแน่นอน ทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียน สามารถเรียนรู้แจดจำสิ่งที่เรียนได้ดีและทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียนสามารถเรียนรู้และจดจำสิ่งที่เรียนได้ดี และนำการเรียนรู้นั้นไปใช้ในสถานการณ์เช่นเดียวกันได้ และ ไพรัตน์ อนุพันธ์ (2535 : 26) กล่าวถึงความสำคัญของแบบฝึกว่า ความสำคัญของแบบฝึกต่อการเขียนสะกดคำเป็นสิ่งจำเป็นมาก ครูผู้สอนต้องพยายามหาแบบฝึกหรือสร้างแบบฝึกทีมีประสิทธิภาพเพื่อใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และมีความสนใจยิ่งขึ้น
สรุปได้ว่า แบบฝึกเป็นสื่อการเรียนที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในกระบวนการเรียนการสอนกลุ่มวิชาทักษะ นอกจากจะช่วยให้ครูผู้สอนสอนง่ายขึ้น ยังช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีความสนใจในการเรียนมากขึ้น
2) หลักในการสร้างแบบฝึก
ดังที่ได้กล่าวว่าวิชาภาษาไทยเป็นวิชาทักษะที่ต้องอาศัยการฝึกอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการสร้างแบบฝึกจะต้องสร้างให้เหมาะสมตามกระบวนการในการฝึก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ฝึก ซึ่งมีนักการศึกษาได้เสนอแนวทางในการสร้างดังนี้
มานะ สกุลภักดี (2521 : 241 – 242 ) กล่าวถึงแบบฝึกตามรูปแบบของโครงการส่งเสริมสมรรถภาพการสอน(reduced instructional time RIT) ว่ามี 2 รูปแบบ คือ
แบบที่ 1 คือแบบฝึกทักษะ เป็นวิธีการที่นำไปใช้ในการสอนวิชาทักษะเช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ เป็นต้น
แบบที่ 2 เป็นแบบที่ใช้ฝึกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความคิดรวบยอดเป็นวิธีการสอนที่จะนำไปใช้ในวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา สุขศึกษา เป็นต้น

ศรีประภา ปาลสิทธิ์ (2522 : 22) ได้เสนอแนวทางในการสร้างแบบฝึกไว้ดังนี้
(1) สร้างแบบฝึกให้เหมาะสมกับวัยของนักเรียนคือไม่ง่ายและยากจนเกินไป
(2) เรียงลำดับแบบฝึกจากง่ายไปหายาก โดยเริ่มจากการฝึกการออกเสียงเป็นพยางค์ คำ วลี ประโยค และคำประพันธ์
(3) แบบฝึกใช้ภาพประกอบเพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก ซึ่งจะช่วยให้เด็กประสบผลสำเร็จในการฝึก และจะช่วยยั่วยุให้ติดตามต่อไปตามหลักของการจูงใจ
(4) แบบฝึกที่สร้างขึ้นเป็นแบบฝึกสั้น ๆ ง่าย ๆ
(5) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย แบบฝึกจะต้องมีลักษณะต่าง ๆ กัน เช่น ประสบคำจากภาพ เล่นกับบัตรภาพ ฝึกร้องเพลง และใช้เกมต่าง ๆ ประกอบ เป็นต้น
เพียงจิต อึ้งโพธิ์ (2529 : 29) ได้เสนอแนวทางและหลักการในการสร้างแบบฝึกทักษะการเขียนสะกดคำพ้องเสียงเพื่อให้เกิดประโยชน์และก่อให้เกิดความสนใจว่า
(1) สร้างแบบฝึกให้มีหลายรูปแบบ เช่น การให้เติมคำ การให้จับคู่ ต่อเติมตารางอักษร เลือกผลไม้ การใช้เพลง และเกมประกอบการเรียนการสอน
(2) คำนึงถึงความยากง่ายของคำที่นำมาฝึก ควรเริ่มต้นจากคำที่ง่ายก่อน คำที่นักเรียนเขียนผิดกันมาก จะนำมาฝึกซ้ำหลาย ๆ ครั้งโดยเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมไม่ให้ซ้ำกันจนนักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย
(3) การฝึกทักษะแม้ว่าจะเน้นทักษะการเขียนสะกดคำ ก็ควรจะเน้นทักษะการฟัง พูด และอ่านไปพร้อม ๆ กัน
(4) เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการสร้างแบบฝึกทักษะ เช่น การหาคำพ้องเสียงจากหนังสือแบบเรียน หนังสืออ่านประกอบในกลุ่มวิชาต่าง ๆ ให้นักเรียนช่วยกันค้นหาความหมายของคำพ้องเสียงจากพจนานุกรม
นอกจากนี้ครูผู้สอนพยายามหากิจกรรมในหลาย ๆ รูปแบบ ทั้งเกม และเพลงประกอบการเรียน ตลอดจนกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะการเขียนสะกดคำที่น่าสนใจ เพื่อนำมาใช้ประกอบการเขียนสะกดคำพ้องเสียงทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนประสบผลสำเร็จในการเขียนสะกดคำพ้องเสียงและการเรียนยิ่งขึ้น
คิง(King1979 : 237) ได้กล่าวเสนอแนะการสร้างแบบฝึกการเขียนสะกดคำสรุปเป็นขั้นตอนได้ดังนี้ คือ
(1) ตรวจสอบ ได้แก่ การตรวจสอบคำที่จะนำมาให้นักเรียนเขียนว่ามีความเหมาะสมและถูกต้อง
(2) ออกเสียง ได้แก่ การให้นักเรียนได้ฝึกออกเสียงของคำที่จะนำมาเขียน ควรฝึกหลาย ๆ ครั้ง ให้ออกเสียงให้ถูกต้อง
(3) สะกดคำ ได้แก่ การฝึกให้นักเรียนสะกดคำที่จะนำมาเขียนด้วยปากเปล่า หัดออกเสียงดัง ๆ ซ้ำหลาย ๆ ครั้ง
(4) เขียน ได้แก่ การนำคำที่นักเรียนสะกดปากเปล่านั้นมาให้นักเรียนเขียนหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้เกิดความชำนาญและถูกต้อง
(5) ใช้ ได้แก่ การนำคำนั้นมาฝึกเขียนเป็นประโยค เป็นข้อความ
(6) ทบทวน ได้แก่ การทบทวนตามที่ได้ปฏิบัติมาในทุกขั้นตอน
3) ลักษณะแบบฝึกที่ดี
รัชนีศรี ไพรวรรณ (2520 : 30 – 31 ) ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการสร้างแบบฝึกทักษะที่ดีไว้ดังนี้
(1) สร้างแบบฝึกให้สอดคล้องกับหลักจิตวิทยาและพัฒนาการของผู้เรียนตามลำดับขั้นการเรียนรู้ แบบฝึกหัดเสริมทักษะนั้นต้องอาศัยรูปภาพจูงใจนักเรียน และควรจัดเรียงเนื้อหาตามลำดับจากง่ายไปยาก นักเรียนจะมีกำลังใจทำแบบฝึกหัด
(2) มีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนว่าจะฝึกทักษะในด้านใด แล้วจัดเนื้อหาให้ตรงกับจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
(3) ต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียนถ้าสามารถแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อยตามความสามารถแล้วจึงจัดทำแบบฝึกทักษะ
(4) แบบฝึกที่ดีต้องมีคำชี้แจงง่าย ๆ สั้น ๆ ที่นักเรียนอ่านเข้าใจและทำแบบฝึกได้ด้วยตนเอง
(5) แบบฝึกต้องมีความถูกต้อง ครูต้องพิจารณาให้รอบคอบ ทดลองทำด้วยตนเองเสียก่อน อย่าให้มีข้อผิดพลาด
(6) ให้นักเรียนทำแบบฝึกแต่ละครั้งต้องเหมาะสมกับเวลาช่วงความสนใจ
(7) ควรมีหลายรูปแบเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
ก่อ สวัสดิพานิชย์(2524 : 20) เสนอแนวคิดเกี่ยวกับลักษณะแบบฝึกทักษะที่ดีไว้ดังนี้
(1) ครูต้องเตรียมแบบฝึกให้รอบคอบว่าจะใช้แบบฝึกแบบใด และแบบฝึกนั้น ๆ จะช่วยฝึกทักษะทางภาษาจนเด็กสามารถนำทักษะที่ฝึกนั้นไปใช้ในชีวิตประจำวันได้หรือไม่เพียงไร
(2) ให้แบบฝึกนั้น ๆ แต่หลาย ๆ แบบเพื่อฝึกทักษะในเรื่องเดียวกันเด็กจะไม่เบื่อ แต่เกิดความสนุกสนานและมีความแม่นยำในเรื่องที่ฝึกนั้น
(3) ฝึกในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เช่น จับคู่หัวใจ เก้บผลไม้ ช้อนเป็ดลอยน้ำ
(4) การประเมินปลนั้นต้องประเมินผลเพื่อดูความก้าวหน้าของเด็กและเพื่อประเมินค่าแบบฝึกว่าช่วยให้เด็กก้าวหน้าเพียงไร ถ้าเด็กไม่มีความก้าวหน้าครูต้องสนใจที่จะค้นหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร
(5) การประเมินผลนั้นไม่ควรนำเด็กไปเทียบกับกลุ่ม แต่ควรให้เด็กเปรียบเทียบกับตนเอง
การที่จะสร้างแบบฝึกให้ดีมีประสิทธิภาพครูจะต้องคำนึงถึงตัวนักเรียนเป็นสำคัญ โดยดูความพร้อมระดับสติปัญญา ความสามารถ และความเหมาะสมในการใช้สำนวนภาษา ตลอดจนเนื้อหาและระยะเวลาในการทำแบบฝึก ซึ่งจะทำให้นักเรียนสนใจที่จะนำเอาแบบฝึกที่ครูสร้างขึ้นมาแก้ไขข้อบกพร่อหรือส่งเสริมทักษะทางภาให้ดียิ่งขึ้น ธูปทอง ปราบพล (252 : 15) ได้ชี้แนวทางในการสร้างแบบฝึกที่ดีว่า ควรสร้างแบบฝึกหลาย ๆ แบบ โดยคำนึงถึงเนื้อหา ความยากง่ายและระยะเวลาในการฝึก นอกจากนั้นต้องฝึกทักษะการออกเสียง อ่านก่อนฝึกทักษะการเขียนและจึงฝึกรวมกันทั้งทักษะการอ่านและการเขียนในภายหลัง ต่อมา ประชุมพร สุวรรณตรา(2528 : 61) ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับลักษณะแบบฝึกที่ดีว่า มีคำสั่งและคำอธิบายอย่างชัดเจนมีตัวอย่างที่ให้ความคิดหลายแนว มีภาพประกอบ เส้นบรรทัดที่เว้นให้เติมมีขนาดพอเหมาะ และการวางฟอร์มเป็นระเบียบสวยงาม และโรจนา แสงรุ่งรวี (2531 : 22) กล่าวว่า ลักษณะของแบบฝึกที่ดีจะต้องมีคำอธิบายชัดเจนเป็นแบบฝึกสั้น ๆ ใช้เวลาฝึกไม่นานจนเกินไป มีหลายรูปแบบและฝึกเพียงเรื่องเดียวในแบบฝึกหนึ่ง คำศัพท์ที่ใช้ฝึกสามารถนำไปชในชีวิตประจำวันได้และสามารเรียนได้ด้วยตนเอง
1.3.3 ลักษณะของแบบทดสอบสำหรับแบบฝึก
วิเชียร เกตุสิงห์ ได้เสนอแนะเกี่ยวกับแบบทดสอบการเขียนสะกดคำไว้ในเรื่อง หลักการสร้างและวิเคราะห์ข้อสอบว่า
การทดสอบสะกดคำ(spelling) แทนที่จะให้นักเรียนเขียน ก็เปลี่ยนมาใช้วิธีเขียนให้นักเรียนดูแล้วให้นักเรียนตัดสินใจว่าคำเขียนผิดคำใดเขียนถูกดีกว่าการเขียนตามคำบอก เพราะว่าการเขียนตามคำบอกนั้นเกี่ยวกับเรื่องการฟังด้วย ส่วนการเขียนสะกดคำไม่เกี่ยวกับการฟังเลย การเขียนตามคำบอก (dictation) นั้นนักเรียนมีประสาทหูไม่ดีก็จะผิดพลาดได้ง่าย ทั้ง ๆ ที่คำที่เขียนผิดนั้นนักเรียนอาจจะรู้ดี แต่เผอิญฟังผิดไปเลยทำให้เขียนผิดก็อาจเป็นได้ การทดสอบการสะกดคำอาจทำได้โดยใช้ข้อสอบแบบเลือกหาคำตอบที่เขียนผิดจากข้อสอบแต่ละข้อซึ่งมีตัวเลือกล้วน สายยศและอังคณา สายยศ ได้กล่าวถึงการกำหนดตัวเลือกในแบบทดสอบแต่ละข้อในเรื่องเทคนิคการวัดผลการเรียนรู้ว่าการกำหนดตัวเลือก ตามธรรมดาตัวเลือกมาจากทำให้โอกาสการเดาน้อยลงการใช้ความคิดมากขึ้น ดังนั้นถ้าเป็นระดับเด็ก ๆ อาจใช้เพียง 3 ตัว เลือก ชั้นประถมศึกษากำหนด 4 ตัวเลือก แต่แบบทดสอบมาตรฐานทั่ว ๆ ไปจะใช้ 4 – 5 ตัวเลือกมากที่สุด จากงานวิจัยถ้ากรณีตัวเลือกวิเคราะห์ แล้วเห็นว่ามีคุณภาพสูง จะใช้ 3 ตัวเลือก 4 ตัวเลือก หรือ 5 ตัวเลือก ก็ได้ ไม่ทำให้คุณภาพของแบบทดสอบแตกต่างกันมาก

ไม่มีความคิดเห็น: