วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ปรัชญาการศึกษา

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กับปรัชญาการศึกษา
ปัญหาของวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง และความเจริญทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ส่งผลต่อการจัดการศึกษาของไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะการจัดการศึกษาสามารถที่จะขจัดปัญหาต่าง ๆ ไปได้ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ขึ้น และได้มีการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้บรรจุมาตราต่าง ๆ เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลง 5 แนวทาง ได้แก่
1. การปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอน-การประเมินผล
2. การปฏิรูปการฝึกอบรมครู และระบบการพัฒนาครู การใช้ครู
3. ปฏิรูประบบการบริหารจัดการ
4. ปรับระบบการศึกษา
5. ยุทธศาสตร์ของการระดมสรรพกำลังจากทุก ๆ ส่วนของสังคม ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ปรัชญาการศึกษามีความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะมีการศึกษาที่ใดย่อมมีการนำปรัชญาการศึกษาไปใช้ที่นั่น เช่นเดียวกัน ที่ใดมีปรัชญาการศึกษาที่นั่นย่อมมีการจัดการศึกษา โดยคำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ในการเรียนการสอน เพื่อใช้เป็นแนวทาง เป็นหลักการและเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบ
ปรัชญาการศึกษาที่นำมาศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2542 พอจะสรุปเนื้อหาความสำคัญของปรัชญาดังต่อไปนี้
1. ปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม (essentialism)
เน้นเนื้อหาสาระและความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมของสังคมที่ได้รับการยอมรับและปฏิบัติกันในสังคมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการดำเนินชีวิตของประชาชนในสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายดังนี้
1.1 เพื่อทะนุบำรุง และถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมไปสู่ชนรุ่นหลัง มิให้สูญหาย หรือถูกทำลายไป
1.2 เพื่อให้การศึกษาในสิ่งที่เป็นเนื้อหาสาระอันได้จากมรดกทางวัฒนธรรม
1.3 เพื่อให้การศึกษาในรื่องของความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยมของสังคมในอดีต
1.4 เพื่อฝึกฝนให้ผู้เรียนมีความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาเล่าเรียนและการทำงาน
1.5 เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีพัฒนาการทางปัญญา
1.6 เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีระเบียบวินัยในตนเอง และรู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น
2. ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม (perennialism)
จุดมุ่งหมายของปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยมอยู่ที่ การสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง ปลูกฝังความเชื่อและค่านิยมที่ดีแก่ผู้เรียน มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีเหตุผลยิ่งขึ้น รู้จักและเข้าใจตนเอง พร้อมทั้งเห็นว่าตัวเองนั้นมีพลังธรรมชาติอยู่ภายในแล้ว การศึกษาก็คือการส่งเสริมให้พลังธรรมชาตินั้นพัฒนาเต็มที่ พลังธรรมชาติในที่นี้ก็คือ สติปัญญาของมนุษย์ ถ้าสติปัญญาได้รับการขัดเกลาและพัฒนาอย่างดีพอ มนุษย์ก็จะทำอะไรได้อย่างมีเหตุผลเสมอ จุดหมายของการศึกษาของทฤษฎีการศึกษานิรันตรนิยมกล่าวไว้ดังนี้ คือ
2.1 มุ่งให้ผู้เรียนรู้จักและทำความเข้าใจกับตนเองให้มากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องเหตุผลและสติปัญญา
2.2 มุ่งให้ผู้เรียนพัฒนาสติปัญญาและเหตุผลในตัวมนุษย์ให้ดีขึ้น สูงขึ้นเพื่อเป็นคนที่สมบูรณ์
3. ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม(progressivism)
แนวคิดหลักการของการศึกษาแบบพิพัฒนาการนิยมนี้ ก็คือการศึกษาจะต้องพัฒนาเด็กทุก ๆ ด้านไม่เฉพาะสติปัญญาเท่านั้น โรงเรียนมีความสัมพันธ์กับสังคมมากขึ้น เด็กจะต้องพร้อมที่จะไปอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ปรับตัวได้อย่างดี กระบวนการเรียนการสอนจึงมีความสำคัPพอ ๆ กับเนื้อหา เรื่องของปัจจุบันมีความสำคัญกว่าอดีตหรืออนาคต จุดมุ่งหมายของการศึกษา
การศึกษาตามปรัชญาพิพัฒนาการนิยมนี้ เกิดขึ้นเพื่อต้านแนวคิดและวิธีการเก่าของการศึกษาที่เน้นแต่เพียงคุณสมบัติด้านใดด้านหนึ่ง เพราะคิดว่าด้านนั้นสำคัญกว่าดังที่สารัตถนิยมเน้นความสามารถทางการจำและเข้าใจ และมองว่าการศึกษาจะต้องให้การศึกษาทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา ควบคู่กันไป ความสนใจ ความถนัด และลักษณะพิเศษของผู้เรียนควรได้รับความสนใจและได้รับการส่งเสริมให้มากที่สุดส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย ทั้งในและนอกห้องเรียน และส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รู้จักตนเองและสังคม เพื่อผู้เรียนจะได้ปรับตัวเข้ากับสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างใดก็ตาม ผู้เรียนจะต้องรู้จักแก้ปัญหาได้
4. ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม(reconsteuctionism)
ปรัชญาการศึกษาในแนวนี้เห็นว่า ปัจจุบัน(รวมทั้งอนาคต) สังคมมีปัญหามากทั้งในด้านของเศรษฐกิจ การเมือง ศิลปวัฒนธรรม ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก สังคมจึงต้องการการแก้ปัญหาและหาทางที่จะสร้างค่านิยมและแบบแผนของสังคมขึ้นใหม่ การที่จะแก้ปัญหาและสร้างค่านิยมขึ้นใหม่นี้ การศึกษาจะต้องมีบทบาทอย่างสำคัญซึ่งความเชื่อและหลักการสำคัญของทฤษฎีการศึกษาปฏิรูปนิยมในด้านจุดมุ่งหมายหลักของการศึกษาในแนวทางนี้คือการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อปรับปรุง พัฒนาและสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ดีและเหมาะสมกว่าขึ้นมาให้ได้ ดังจะกล่าวเป็นรายละเอียดได้คือ
4.1 การศึกษาจะต้องช่วยแก้ปัญหาของสังคมที่เป็นอยู่
4.2 การศึกษาต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมและพัฒนาสังคมโดยตรง
4.3 การศึกษาจะต้องมุ่งสร้างระเบียบใหม่ของสังคมจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่
4.4 ระเบียบใหม่ที่สร้างขึ้นรวมทั้งวิธีสร้างต้องอยู่บนพื้นฐานของประชาธิไตย
4.5 การศึกษาจะต้องให้เด็กเห็นความสำคัญของสังคมคู่ไปกับตนเอง
5. ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม(existentialism)
เชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพในทางที่จะเป็นตัวของตัวเองตลอดเวลา นักปรัชญากลุ่มนี้สนใจเกี่ยวกับโลกแห่งการดำรงชีวิตอยู่ได้(A World of Existing) เชื่อว่า คนคือความไม่แน่นอน ไม่มีแก่นสาร ความจริงหรือความรู้ควรจะเป็นเรื่องที่ช่วยให้ตนเองดำรงชีวิตอยู่ได้ จริยศาสตร์ควรจะเป็นเรื่องของเสรีภาพและความสมัครใจสุนทรียศาสตร์ควรจะเป็นเรื่องของการปฏิวัติหรือหนีสังคม และไม่จำเป็นต้องตรงกับความพอใจของประชาชนส่วนใหญ่ กลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์มีความเป็นอิสระ มีเสรีภาพในการเลือก ในการกระทำ มนุษย์ตัดสินใจด้วยตนเอง เลือกด้วยตนเอง และรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองลัทธินี้มีความสัมพันธ์กับปรัชญาด้านต่าง ๆ คือ
เชื่อว่า ความจริงคือการดำรงอยู่ของชีวิต ไม่เห็นด้วยกับความสมบูรณ์แท้จริงที่สุดของการให้เหตุผลหรือตรรกวิทยาบริสุทธิ์ ลัทธินี้เน้นถึงชีวิตและประสบการณ์ของเอกัตบุคคล เชื่อว่ามนุษย์จะดีก็อยู่ที่การเลือกที่จะทำตนให้เป็นเช่นนั้น นักปรัชญาในกลุ่มนี้บางคนก็เชื่อว่าไม่มีพระเจ้า แต่บางคนเชื่อว่า มีพระเจ้าเป็นผู้ช่วยมนุษย์ให้มีศีลธรรมจรรยาดี
เชื่อว่าความจริงคือ ความรู้จะช่วยให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ และถือว่าความรู้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแก่แต่ละบุคคล ความรู้ไม่ใช่ผลบั้นปลายอันต้องประสงค์ และก็ไม่ใช่มรรคอันจำจะต้องเรียนรู้เพื่อเตรียมตัวไปเผชิญกับชีวิตจริง หากความรู้เป็นมรรควิธีจะให้แต่ละคนเจริญเติบโต และเลือกทำในสิ่งที่ตนประสงค์ยิ่งขึ้นทุกที
6. ปรัชญาการศึกษาพุทธปรัชญา (Buddhism) เป็นปรัชญาที่เชื่อว่า การศึกษาคือการพัฒนาบุคคลให้ถึงพร้อมด้วยปัญญา และดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตลอดจนรู้จักแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

อยากทราบว่า ปรัชญาการศึกษาในพรบ.การศึกษา 2542 เน้นปรัชญาเรื่องใดมากที่สุดคะ

คนบางรัก กล่าวว่า...

เขียนได้ดีมาก